รู้จักเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์: ค่ายส่งเสริมเยาวชน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง

ที่มาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 พร้อมแนวคิด “66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” พัฒนามาจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ตามแนวดำริของบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จนถึงปี 2562 และดำเนินโครงการในจังหวัดน่านถึงปี 2565 แนวคิดดังกล่าวได้ถูกสานต่อจนกระทั่งก่อตั้งมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาในเดือนธันวาคม 2565 โดยมี ดร. อภิชัย จันทรเสน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิและขัตติยา อินทรวิชัย เป็นรองประธานกรรมการ มูลนิธิในการต่อยอดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาอย่างต่อเนื่อง

KBank Camp

สำหรับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด “66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” มีเป้าหมายที่จะทำให้เยาวชนพัฒนาการเรียนรู้และนำความรู้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นได้ เป็นโครงการที่ช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้นและยังตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติได้ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญารุ่นที่ 1 จัดให้กลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก่อนเข้าสู่การเรียนรู้ในวัยมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยให้โอกาสเยาวชนที่เคยเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนละ 5 คนจาก 8 โรงเรียน รวม 40 คนที่ต้องการเรียนรู้การประกอบธุรกิจและต้องการเป็นผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสเข้าเรียนรู้ผ่านการร่วมแคมป์ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-27 พฤษภาคม 2566 เป็นระยะเวลารวม 66 วัน 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์แบ่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม 3 แคมป์ ดังนี้

  • แคมป์ที่ 1 กล้าเรียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2566 เป็นแคมป์ที่ปูความรู้พื้นฐานในการพัฒนาแนวคิดด้านธุรกิจและนำทุนที่สนับสนุนจากมูลนิธิไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำไปทดลองตลาดต่อไป
  • แคมป์ที่ 2 กล้าลุย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 เมษายน 2566 เป็นแคมป์ที่ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ที่จะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต่อยอดมาจากแคมป์ที่ 1 มานำเสนอขาย รวมถึงสอบถามความคิดเห็นจากลูกค้าตัวจริง เพื่อนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจจริงต่อไป
  • แคมป์ที่ 3 กล้าก้าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2566 เป็นแคมป์ ที่รายงานผลประกอบการ ตลอดจนแรงบันดาลใจในการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการ นำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและนักธุรกิจตัวจริง เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของบุคคลต้นแบบ

โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ประกอบด้วย โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร อ.เมืองน่าน 2. โรงเรียนสา อ.เวียงสา 3. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา 4. โรงเรียนปัว อ.ปัว 5. โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม อ.ท่าวังผา 6. โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา อ.เชียงกลาง 7. โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง และ 8. โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น

ดร. อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา
ดร. อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

แนวคิดและเป้าหมายของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

เรื่องนี้ ดร. อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เล่าว่า ถ้าประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่ดีแล้วจะส่งผลต่อความคิดเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แนวคิดนี้สานต่อจากบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ที่ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน จากโครงการดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศและโดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน พบว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการคิดของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับการเพาะพันธุ์ปัญญาภาคแรกได้จบลงแล้ว กำลังเดินหน้าสู่ระยะที่สองที่มีการก่อตั้งมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเมื่อปลายปี 2565 

เป้าหมายหลักของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา คือการให้องค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ พร้อมประสบการณ์จริงแก่เยาวชน ให้เยาวชนได้ลงสนามจริง เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ โลกธุรกิจที่แท้จริงให้เขาได้นำไปประยุกต์ใช้ เมื่อเขาได้เติบโตขึ้นก็จะลงมือทำได้จริงและสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิด 

ส่วนสาเหตุที่เลือกที่น่านเป็นแห่งแรกในการทำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ครั้งที่ 1 นั้น เนื่องจากน่านถือเป็นพื้นที่เหมาะสมในการเรียนรู้หลากหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ หลายปัจจัยรวมกันทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ ซึ่งพัฒนาการของน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน จากที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือไม่ค่อยตอบคำถามในช่วงแรกๆ ในระยะหลัง น้องๆ ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะใช้กระบวนการคิดในการค้นหาคำตอบมากขึ้น ดังนั้น ความรู้และทักษะดังกล่าวที่น้องๆ ได้พัฒนาผ่านเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ จะทำให้เขาจะนำไปต่อยอดเป็นนักธุรกิจในอนาคตหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขาเอง 

โครงการดังกล่าว ทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างตรรกะให้กับเยาวชนได้และทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าเวลาที่เกิดปัญหาจะต้องเข้าไปแก้ที่ต้นเหตุ เมื่อแก้ปัญหาที่เหตุซ้ำๆ ปัญหาก็จะไม่กลับมาอีก เมื่อเยาวชนมีวิธิคิดแบบนี้ เขาก็จะเติบโตและกลายเป็น บุคลากรที่มีความสำคัญกับประเทศได้

KBank เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ช่วยพัฒนาเด็กให้เติบโต ล้มแล้วลุกเป็น เสริมทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต

ด้านภณิดา ทวีลาภ กรรมการมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ผู้จัดเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ พูดถึงการที่เยาวชนได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้พวกเขามีทักษะการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ทำให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถนำบริบทในท้องถิ่นมาใช้ในโครงงานได้ โครงการดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ตลอดระยะเวลา 66 วันในการเข้าร่วมโครงการ เยาวชนได้เรียนรู้ความรู้และทักษะใหม่ๆ จากกูรูและนักธุรกิจตัวจริงเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ 

KBank เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

สาเหตุที่เลือกเยาวชนในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย ก็เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้พวกเขานำไปตัดสินใจว่าชีวิตจะก้าวไปทางใดต่อจากนี้ได้ เราไม่ได้คาดหวังให้เขาเรียนรู้จากโครงการจบออกไปเพื่อจะไปเป็นนักธุรกิจ แต่เพื่อให้พวกเขาสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพใดก็ตาม อยากให้เขาไม่หยุดพัฒนาตัวเองและคาดหวังว่าเมื่อเขาดูแลตัวเองได้แล้ว เขาจะกลับมาช่วยดูแลสังคมรอบตัวและช่วยพัฒนาประเทศต่อไปด้วย การที่น้องๆ ได้ต่อยอดความรู้จากสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมี สิ่งที่ได้ต่อจากนี้คือกระบวนการคิด วิเคราะห์ คิดเป็นตรรกะได้ ทำให้เขาออกจากห้องเรียนในรูปแบบเดิมๆ ให้พวกเขาได้พบปะกับผู้คนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ และกระตุ้นความคิดให้พวกเขาได้ 

การเรียนรู้ผ่านแคมป์แบ่งออกเป็นสามแคมป์ย่อย คือ กล้าเรียน กล้าลุย และกล้าก้าว เป็นก้าวแรกที่จะเริ่มจากการให้เยาวชนได้เปิดใจที่จะเรียนรู้ก่อน ต้องมีโค้ชคอยกระตุ้นความคิดผ่านการตั้งคำถาม เพราะการถามคือการสอน การสะท้อนคิดคือการเรียน การเขียนคือการคิด ถ้าจะสอนเขา เราต้องถามเขาเยอะๆ จากนั้นกระบวนการคิดจะเริ่มเกิดขึ้นเอง ทำให้เด็กได้คิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่เยาวชนได้เรียนรู้จากโครงการนี้คือวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ นั่นคือ ล้มแล้วลุกเป็น ไม่จำเป็นว่าต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือทำ แต่ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า เมื่อล้มเหลวแล้วสามารถลุกขึ้นได้ นี่คือส่วนหนึ่งของการส่งเสริมทักษะให้เขาเติบโตและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

KBank เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

ถอดบทเรียนจากเยาวชน ต่อยอดความฝัน สานต่ออาชีพในอนาคต เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

บทเรียนจากเยาวชนที่ร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ 4 ราย เล่าความฝันที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดได้จากการเข้าร่วมพัฒนาตัวเองผ่านการเข้าแคมป์ เริ่มจากปกรณ์ ทองประเสริฐ (ป้าง) โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง เล่าว่า สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการเพราะอยากลองทำธุรกิจจริง ขณะเดียวกันก็อยากผลิตสินค้าแฮนด์เมดเพื่อหารายได้เพิ่มและอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย เช่น ทำพวงกุญแจจากไม้มะขาม โคมไฟจากกะลามะพร้าว จากการเข้าร่วมแคมป์ ทำให้ปกรณ์รู้สึกสนุกกับกิจกรรม ได้ไอเดียใหม่ๆ และยังได้แสดงออก ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและสนุกกับการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ เรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไรขาดทุน เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และเชื่อว่าสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ขณะที่จิระศักดิ์ แดงต๊ะ (จีโน่) โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น เล่าว่า สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการเพราะมีความชอบในการทำธุรกิจ เพื่อหาความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ตัวเอง การร่วมเรียนรู้ในแคมป์ ทำให้เข้าใจธุรกิจมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอย่างไร ทำให้เข้าใจเรื่องต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้น ถือเป็นโครงการที่ดีและจะมีช่วงที่ยากก็ทำให้เรียนรู้ที่จะมุ่งมั่น เรียนรู้วิธีล้มและลุกให้เร็วเป็นอย่างไร ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะนำไปใช้ในอนาคตได้

KBank เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

KBank เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

ด้านนารี แซ่โซ้ง (ออม) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา เล่าถึงการเข้าร่วมโครงการ ทำให้มีความเข้าใจภาพรวมธุรกิจมากขึ้น เรียนรู้ว่าเมื่อล้มเหลวแล้วก็สามารถลุกขึ้นได้ เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการที่ดี เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้จักแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการวางแผนทำธุรกิจได้ 

ขณะที่เพชรชรินทร์ คำพุฒ (นับหนึ่ง) โรงเรียนสา อ.เวียงสา เล่าว่า เกิดในครอบครัวเกษตรกร อยากลองทำธุรกิจดูบ้าง เมื่อเห็นว่ามีค่ายที่ให้ความรู้ด้านนี้ จึงอยากเข้าร่วม เนื่องจากสามารถเก็บประวัติการเรียนรู้เข้าพอร์ตได้และยังเปิดโลกในการทำธุรกิจแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วย การเข้าค่ายทำให้เรียนรู้ว่า ความฝันไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ทำให้มีหลักคิดในการหาเป้าหมาย เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและทำให้มีวิธีคิดที่มีหลักการมากขึ้น 

KBank เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

สรุป

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ได้เปิดโอกาสให้กับเยาวชนในจังหวัดน่านได้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่และไอเดียธุรกิจที่สร้างสรรค์ ได้ลงมือทำธุรกิจจริง ซึ่งจะทำให้ได้พัฒนาทักษะในการจัดการอย่างมืออาชีพทั้งกระบวนการ ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ที่จะล้มเหลวและลุกขึ้นสู้อย่างไม่ท้อถอย สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมแคมป์ โดยเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้และประสบการณ์จากเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ จะเติมเต็มและสร้างความพร้อมให้กับเยาวชนในการรับมือกับโจทย์ใหม่และความท้าทายที่จะเข้ามาในอนาคตอย่างมั่นใจและสมดุล ซึ่งระบบการเรียนรู้นี้จะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา