Personalized Food หรืออาหารเฉพาะบุคคล กำลังเป็นกระแสต่อจาก Plant-based Food และจะเติบโตก้าวกระโดดในไทย ว่าแต่ Personalized Food คืออะไร แตกต่างจากอาหารปกติแค่ไหน ลองมาทำความรู้จักกัน
ตลาด Personalized Food 55,000 ล้านบาท
พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เล่าให้ฟังว่า Personalized Food คืออาหารเฉพาะบุคคล หรืออาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็น และเหมาะสมกับการใช้ชีวิต, สุขภาพ รวมถึงพันธุกรรมของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ Personalized Food จะรวมอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเหตุผลที่ Personalized Food เติบโตมากกว่าเดิม เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการส่วนตัวมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และอาหารดีกว่าเดิม ทำให้การออกแบบอาหารเฉพาะบุคคลทำได้ดีขึ้น
“การระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่งทำให้คนให้ความสำคัญกับอาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลมากขึ้น สำหรับประเทศไทย คาดว่ามูลค่าตลาด Personalized Food อาจแตะระดับ 55,000 ล้านบาท ในปี 2025 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 14.2%”
กลุ่มควบคุมน้ำหนัก และกลุ่มผู้สูงอายุ น่าสนใจ
จากตัวเลขมูลค่าตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่ภาคธุรกิจจะสร้างรายได้จาก Personalized Food ย่อมสูงขึ้น โดย Krungthai COMPASS มองว่า กลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก, กลุ่มผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มผู้สูงอายุ
ส่วนอาหารเฉพาะบุคคลจริง ๆ แม้ผู้บริโภคจะมีความต้องการสูงขึ้น และยินดีที่จะจ่ายค่าอาหารแบบนี้สูงกว่าสินค้าปกติ 40-50% แต่ด้วยภาพรวมตลาดที่ยังไม่ใหญ่นัก ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องพิจารณาในความคุ้มค่าหากต้องการลงทุนทำตลาด Personalized Food แบบด้งกล่าว
“ผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มที่น่าจะมองหาโอกาสในการเข้าสู่ตลาดนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และธุรกิจร้านอาหารสุขภาพ และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่”
สร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์คือสิ่งสำคัญ
Personalized Food คือเรื่องค่อนข้างใหม่ในตลาด ดังนั้นการพยายามสื่อสารข้อมูลให้ผู้บริโภคเข้าใจอาหารเฉพาะบุคคลมากขึ้นคือเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการทำผ่านช่องทางขององค์กร หรือการใช้สื่อต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค
ขณะเดียวกันการร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น
- ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์สุขภาพ (Testing Service)
- ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและอาหาร (Health and Nutrition Specialist)
- ผู้ผลิตสารอาหาร (Food Ingredient)
จะช่วยให้องค์กรสามารถสื่อสารข้อมูล และสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้บริโภคสามารถรับรู้สุขภาพตัวเอง เพิ่มโอกาสตัดสินใจในการลงทุนซื้อ Personanlized Food มารับประทานเพื่อยกระดับสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น
ปัจจุบันมี Personalized Food ที่น่าสนใจ เช่น Kewpie ของประเทศญี่ปุ่น จัดทำอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่บดเคี้ยว และกลืนได้ง่าย, Nestle ที่เริ่มนำ DNA มาวิเคราะห์เพื่อออกแบบอาหารเฉพาะบุคคลในสหรัฐอเมริกา ส่วนในไทยมี ร้านต้นกล้าฟ้าใส ที่จำหน่ายอาหารสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก, ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาล
สรุป
ตอนนี้ความเป็น Personalized เริ่มกระจายไปอยู่ในทุกที่ ไล่ตั้งแต่โฆษณา, แอปพลิเคชันต่าง ๆ ล่าสุดคือ อาหาร เพราะผู้บริโภคชื่นชอบความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าเดิม อยากได้สิ่งที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด จึงไม่แปลกที่ทิศทาง Personalized Food หรืออาหารเฉพาะบุคคล จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวเกี่ยวกับทิศทางตลาดอาหารเพิ่มเติมได้ที่
- ญี่ปุ่นหัวใส คิดนวัตกรรมใหม่ “วาร์ปอาหาร” ให้นักบินอวกาศ ทำได้ยังไง มาดูกัน
- นักเก็ตก็ทำจากพืชได้ Plant-based น้องใหม่จาก PlantEver โดยคาร์กิลล์บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร
- โปรตีนทางเลือก คือโอกาสของเกษตรกรไทย ลดต้นทุนนำเข้า-ต่อยอดการเติบโตอุตสาหกรรมอาหาร
อ้างอิง // กรุงไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา