โปรตีนทางเลือก คือโอกาสของเกษตรกรไทย ลดต้นทุนนำเข้า-ต่อยอดการเติบโตอุตสาหกรรมอาหาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (Kresearch) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโปรตีนพืชซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยไทยสามารถผลิตโปรตีนทางเลือกนี้ด้วยผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศเพื่อลดต้นทุนจากการนำเข้า และสามารถชูเป็นจุดขายของวงการอาหารไทยได้

โปรตีนทางเลือก ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ได้กลายเป็นกระแสอาหารแห่งอนาคต (Future Food) จากการที่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขื้น ตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติ ทำให้หันไปนิยมแหล่งโปรตีนทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

แต่กลับพบว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องของวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบหลักในการผลิตที่นิยมในต่างประเทศคือ “ถั่วเหลือง” โดยไทยต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด ส่งผลต่อความไม่ยั่งยืนด้านอุปทาน ตลอดจนราคาถั่วเหลืองที่เป็น Commodity จะผันผวนไปตามตลาดโลก 

Soybeans Harvesting ถั่วเหลือง
ภาพจาก Shutterstock

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 มูลค่าถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย อาจมีมูลค่าราว 300-500 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นเพียงร้อยละ 0.6-1.0 ของมูลค่าตลาดถั่วเหลืองทั้งหมดของไทย แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนด้านอุปทาน 

ดังนั้น จะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากไทยสามารถชูพืชที่มีศักยภาพมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทยได้เอง ทดแทนการใช้ถั่วเหลืองและยังไม่ใช่แค่เป็นเพียงการรับจ้างผลิตเท่านั้น แต่ไทยยังสามารถมีผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเป็นของตัวเองได้ 

โอกาสในการผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชชั้นดีของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชเกษตรที่มีศักยภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย คือ ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ และเห็ดฟาง 

แต่สำหรับอาหารโปรตีนทางเลือกในไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่และยังมีโอกาสทางธุรกิจอยู่อีกมาก ซึ่งจะรู้จักและเห็นกันส่วนใหญ่ในรูปแบบของโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) เนื่องจากปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง รวมถึงสตาร์ทอัพ เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้แล้ว 

ชาวนา เกษตรกรไทย
ภาพจาก Shutterstock

สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาโปรตีนพืชของไทยให้เป็นที่นิยม

นอกจากนี้ ในฝั่งของอุปสงค์โปรตีนจากพืชของไทยพบว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่น่าจะทำให้ตลาดโปรตีนจากพืชของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว คงต้องขึ้นอยู่กับการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบสำคัญให้สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของรสชาติ ผิวสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ สี ความน่ารับประทาน การไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergen Risk) และการสร้างความน่าสนใจมากขึ้นผ่านกลยุทธ์ทาง Content Marketing อย่างการเล่าเรื่องราวของสินค้า (Storytelling) รวมถึงการรับรองเป็นสินค้าออร์แกนิก 

ขณะเดียวกันการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ช่วยเหลือด้านเงินลงทุนแก่ผู้ประกอบการ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลอดทั้งซัพพลายเชนของอาหารโปรตีนแห่งอนาคตจากพืชในไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา