ผู้พันซานต้ามาแล้ว เตรียมเสิร์ฟไก่ทอด KFC ให้ 3.6 ล้านครัวเรือนญี่ปุ่นในช่วงคริสต์มาส

ประเทศไทยจะฉลองคริสต์มาสยังไงเราไม่รู้ แต่คุณเคยได้ยินธรรมเนียม ‘การกิน KFC ในวันคริสต์มาส’ ของญี่ปุ่นหรือเปล่า?

kfc

ทุกอย่างเริ่มต้นจากผู้ชายที่มีชื่อว่า ‘Takeshi Okawara’ ผู้จัดการ KFC สาขาแรกในญี่ปุ่น

Okawara เป็นหนุ่มนักเรียนนอกจากมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ได้ไอเดียฉลองคริสต์มาสด้วย KFC จากการนึกถึงเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติที่ฉลองคริสมาสต์ด้วยประเพณีการกินไก่งวง 

เพราะไก่งวงกับไก่ทอดคงไม่ต่างกันมากหรอกจริงไหม?

ด้วยเหตุนี้ ในปี 1974 Okawara จึงทำแคมเปญการตลาดสุดล้ำขึ้นมา พร้อมสโลแกน ‘Kurisumasu ni wa Kentakkii’ หรือ ‘Kentucky for Christmas’ ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนกลายเป็นธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นถึงปัจจุบัน

ทำไมมันถึงแมสขนาดนี้?

KFC

จริงๆ แล้วต้นตอของแคมเปญที่เล่าไปนั้น เป็นเพียงเรื่องราวมุมหนึ่ง เพราะความจริงเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครทราบ และหลายๆ แหล่งข่าว รวมถึง KFC เองยังอธิบายปรากฎการณ์นี้ต่างกันไป เช่น

  1. KFC Japan เผยว่า Okawara เดินทางไปงานปาร์ตี้คริสต์มาสด้วยชุดซานตาคลอส แล้วเด็กๆ ในงานชอบมาก จึงเกิดเป็นไอเดียธุรกิจขึ้นมา
  2. KFC Global เล่าบนแพลตฟอร์มตนเองว่า ไอเดียนี้เกิดขึ้นจากการที่มีต่างชาติมาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงคริสต์มาส แล้วหาไก่งวงทานไม่ได้ เลยมาบ่นขณะสั่ง KFC แต่พนักงานฝ่ายขายดันได้ยินเข้า จึงเกิดเป็นไอเดียแคมเปญคริสต์มาส
  3. รายการ ‘The Rising Sun Show’ ของหน่วยงาน USAG Japan Public Affairs เชิญผู้เชี่ยวชาญของ KFC มาสัมภาษณ์ แล้วได้คำตอบว่า คอนเซปต์คริสต์มาสในญี่ปุ่นมาจากการที่ลูกค้าต่างชาติคนหนึ่ง ขอให้พนักงานเดลิเวอรีของ KFC แต่งตัวเป็นซานตาคลอสขณะส่งอาหาร

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุไหน หรืออาจเป็นเรื่องจริงทั้งหมด และล้วนมีส่วนช่วยในการสร้างธรรมเนียมนี้ขึ้นมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกิน KFC ช่วงคริสต์มาสนั้นถูกฝังเข้าไปในสายเลือดชาวญี่ปุ่นแล้ว

โควิดก็พราก KFC จากคนญี่ปุ่นไม่ได้

สำหรับรายได้ มีรายงานว่า ในปี 2016 KFC ทั่วญี่ปุ่นสามารถทำยอดขายช่วง 23-25 ธันวาคมเกินกว่า 1.3 พันล้านบาท หรือตีเป็นจำนวนไก่ทอดราวๆ 24 ล้านชิ้น 

หนึ่งปีถัดมา KFC ญี่ปุ่นก็สามารถทำยอดขายได้มากกว่าเดิมประมาณ 1.4% ด้วยแคมเปญการตลาดที่ชวนนึกถึงเทศกาลแสนสดใส และเปิดรับจองล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมเมนูใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนญี่ปุ่น เช่น บักเก็ตไก่ไร้กลิ่นสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟ

พอมาถึงช่วงการระบาดของโควิดในปี 2020 แม้ KFC ญี่ปุ่นจะทำยอดขายช่วงคริสต์มาสได้น้อยกว่าปี 2019 ราวๆ 50 ล้านบาท แต่ยังถือเป็นตัวเลขที่สูง โดยมีรายได้ปีนั้นมากถึง 1.5 พันล้านบาท

แม้รายได้ที่แน่ชัดของปีหลังๆ มานี้จะยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา แต่โดยเฉลี่ยแล้ว KFC มักเป็นที่หมายปองของชาวญี่ปุ่นกว่า 3.6 ล้านครัวเรือนในช่วงคริสต์มาสเลย

เชฟมิชลินสตาร์ยังต้องจอง

kfc

ถ้ายังไม่เข้าใจว่ามันแมสขนาดไหน ก็คงต้องบอกว่ายอดขาย KFC ในช่วงคริสต์มาสนับเป็น 20% ของรายได้ทั้งปีเลย โดยหนึ่งในเมนูยอดฮิตคือ ‘Standard Party Box’ ที่มาพร้อมกับไก่ทอด 8 ชิ้น กราแต็งกุ้ง และเค้กช็อคโกแลต แถมยังต้องจองล่วงหน้าในราคา 1,016 บาท (4,580 เยน) ต่อชุดด้วย

ทั้งนี้ เมนูหรือเซ็ตโปรโมชันที่ขายดีของ KFC ญี่ปุ่นอาจต่างกันออกไปตามแคมเปญคริสต์มาสแต่ละปี

‘Daniel Calvert’ เชฟมิชลินสองดาวจากโรงแรม Four Seasons สาขาใจกลางโตเกียว เล่าว่า เมื่อปี 2022 เขาต้องจองล่วงหน้า 3-4 อาทิตย์ และสำหรับใครก็ตามที่กะไปวอล์กอินสั่งในวันคริสต์มาส ขอให้ลืมมันไปได้เลย เพราะพนักงานจะรับแค่ออเดอร์ที่จองไว้แล้วเท่านั้น

Calvert เสริมว่า บางที การจองร้านอาหารมิชลินสตาร์ของเขาอาจง่ายกว่าไปกิน KFC เสียอีก

เมื่อไหร่ไทยจะมีบ้าง?

จริงๆ แล้ว KFC ประเทศไทยก็มีแคมเปญการตลาดมากมายที่ตามทันทุกเทรนด์วันสำคัญ ไม่ว่าจะ

  • ธูปกลิ่นไก่ทอด วันตรุษจีน
  • บักเก็ตทัปเปอร์แวร์ เอาใจแม่ๆ ในวันแม่
  • ขนมกระดูกสำหรับน้องหมา ฉลองวันสุนัขโลก
  • กระเช้าบักเก็ตต้อนรับปีใหม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันคริสต์มาส ในปีที่ผ่านๆ มา เราอาจเห็นแค่โปรโมชันหรือเซ็ตบักเก็ตไก่เท่านั้น แต่ยังไม่ค่อยมีแคมเปญปังๆ เหมือนเทศกาลอื่นเลย

ดังนั้น เราคงต้องหวังกันต่อไปว่า KFC ประเทศไทยจะเล่นการตลาดวันคริสต์มาสเมื่อไหร่ หรือจะมีเทศกาลไหนไหมที่ทางองค์กรจะจับมาเป็นธรรมเนียมเหมือนคริสต์มาสของ KFC ญี่ปุ่น

แต่ตอนนี้ ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงปลายปีแล้วอยากสัมผัสวัฒนธรรมกิน KFC ช่วงคริสต์มาสล่ะก็ วางแผนการจองไว้ดีๆ นะ ไม่งั้นอดแน่

ที่มา: JAPANTODAY / CNN / South China Morning Post / TableCheck / Reuters / Financial Review / TimeOut

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา