ศึกษาธุรกิจให้เช่าชายวัยกลางคนในญี่ปุ่น หลังได้รับความนิยมจนสร้างรายได้ 30,000 บาท/เดือน

Ossan ในภาษาญี่ปุ่นนั้นหมายถึง “คุณลุง” หรือชายวัยกลางคนที่มีผ่านร้อนผ่านหนาวมาประมาณหนึ่ง และจากประสบการณ์นี้เองจึงมีคนหัวใสคิดบริการ Ossan Rental หรือเช่าคุณลุงเพื่อไปปรับทุกข์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต

ชายวัยกลางคน // ภาพ pakutaso.com

ที่ปรึกษาวัยกลางคนผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว

Ossan Rental เริ่มต้นจากอดีตหนุ่มที่ปรึกษาด้านแฟชั่นอย่าง Takanobu Nishimoto ที่ปัจจุบันมีอายุ 50 ปีแล้ว เนื่องจากเขาเห็นว่าประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของชายวัยกลางคนนั้นมีประสบการณ์ และน่าจะช่วยให้คำปรึกษากับผู้อื่นๆ จึงเปิดธุรกิจนี้บนโลก Online ในปี 2555 โดยมีเขาเป็นชายวัยกลางคนคนแรกที่ให้บริการ

แต่ถึงปัจจุบัน Ossan Rental ของเขาก็มีชายวัยกลางคนกว่า 80 คนให้เลือก โดยผู้สนใจสามารถจ่ายเงินเพียง 1,000 เยน/ชม. (ราว 300 บาท) ก็สามารถจ้างชายวัยกลางคน หรือคุณลุง ไปรับฟังปัญหาชีวิต, ทำงานบ้าน หรือกระทั่งการปลอมเป็นแฟนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะมาจากโรคจิต หรือ Stalker

ชายวัยกลางคน // ภาพ pakutaso.com

“ปกติแล้วชายวัยกลางคนที่ญี่ปุ่นจะปล่อยเนื้อปล่อยตัว เช่นกินเบียร์ทั้งวัน หรือทิ้งให้ผมขาวทั้งหัว ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขามีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ถ้าพวกเขาเอาเวลาเหล่านั้นมาช่วยเหลือผู้อื่น แถมได้ดูแลตัวเอง และมีรายได้จำนวนหนึ่งด้วย” Takanobu กล่าว

สร้างรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 30,000 บาท หากวางตัวดี

สำหรับบริการ Ossan Rental นั้นส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นผู้หญิงวัย 20-50 ปี และคำร้องใช้บริการสูงที่สุดจะเกี่ยวกับการปรึกษาเรื่องการงาน และความรัก รวมถึงมีใช้บริการเพื่อไปคอนเสิร์ต หรือบาร์เป็นเพื่อน ส่วนการย้ายเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านก็เป็นอีกคำร้องยอดนิยม

ชายวัยกลางคน // ภาพ pakutaso.com

อย่างไรก็ตามข้อห้ามของลุงๆ ก็คือคือห้ามแตะเนื้อต้องตัวลูกค้า รวมถึงทำอะไรที่ส่อไปทางปฏิสัมพันธ์ทางร่างกาย หากเกิดเรื่องขึ้นจะถูกไล่ออกในทันที ส่วนฝั่งลูกค้าก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และบังคับให้ลุงๆ ทุกคนเสียค่าสมาชิก 10,000 เยน/เดือน (ราว 3,000 บาท) แถมต้องเซ็นสัญญา 1 ปีด้วย

ขณะเดียวกันลุงๆ ที่ได้รับความนิยมในระบบของ Takanobu ก็มียอดจองใช้บริการกว่า 50-60 ครั้ง/เดือน ซึ่งสร้างรายได้กว่า 1 แสนเยน (ราว 30,000 บาท) เลยทีเดียว โดยตัวระบบนี้มีการจองใช้บริการเฉลี่ยที่ 900 ครั้ง/เดือน และจากความนิยมนี้เองก็ทำให้มีคู่แข่งที่ทำบริการนี้บ้าง ซึ่งปัจจุบันมีอย่างน้อย 3 รายแล้ว

สรุป

ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจับตามอง แต่น่าจะอยู่แค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะด้วยวัฒนธรรมที่แต่ละคนค่อนข้างทำงานหนัก และถูกคาดหวังสูง ทำให้อยากปลดปล่อย หรือหาเพื่อนในรูปแบบที่แตกต่างจากที่พบเจอในชีวิตปกติ แต่หากใครนำเข้ามาทำตลาดในประเทศอื่น ก็น่าคิดว่าจะได้รับความนิยมหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็ยังไม่มีใครรู้

อ้างอิง // Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา