เรียนรู้ Non-UI ซื้อของแบบ e-Commerce ยุคใหม่ ไม่ต้อง add to cart

พูดถึง e-Commerce ใครที่เคยซื้อของออนไลน์ ต้องรู้จักคำว่า add to cart หรือหยิบของใส่ตะกร้ากันเป็นอย่างดี นี่คือระบบ e-Commerce ที่ใช้กันเป็นเรื่องปกติทั่วโลก มูลค่าตลาด e-Commerce เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทย กลับเติบโตขึ้นไม่เร็วเท่าที่ควร

จากเดิมมีการวิจัยว่า ถ้าสินค้าราคา 980 บาทขึ้นไป จะซื้อขายได้ง่ายด้วยบัตรเครดิต ทำให้เป็นอุปสรรคกับสินค้าที่ราคาต่ำลงมา แต่ปัจจุบันระบบจ่ายเงิน (payment gateway) มีให้เลือกเพียบ ระบบขนส่ง logistics ก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วอะไรคืออุปสรรคที่ e-Commerce จะเติบโต

หรือจะเป็นความยากของระบบ add to cart ซึ่งคือ e-Commerce แบบ UI จึงเกิดแนวคิดเรื่อง Non UI e-Commerce ขึ้น โดยมีการจัดเสวนาขึ้นที่ Discovery HUBBA โดย 2 กูรู คือ ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอของ Nasket และ ณัฐเศรษฐ์ ศิรินันท์ธนานนท์ ซีอีโอของ BentoWeb มาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่อง Non UI

ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอของ Nasket

ทำไม e-Commerce ไทย ไม่โตซักที

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า UI e-Commerce เป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลก เลือกสินค้าใส่ตะกร้า ชำระเงิน จัดส่งของ แต่พบว่า ในประเทศไทยคนที่ใช้งานระบบนี้ได้ มีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่ม Innovators และ Early Adopters คิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรไทย ถ้าจะทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ถนัดด้านเทคโนโลยีมาซื้อสินค้าออนไลน์ จึงต้องสร้าง Non UI ขึ้น

ผรินทร์ บอกว่า UI สร้างคำถามให้กับคนไทยว่า “ซื้ออย่างไร” เพราะต้องผ่านขั้นตอนที่มากมาย ตั้งแต่ลงทะเบียน, เลือกสินค้า, ใส่ตะกร้า, ยืนยันการสั่งซื้อ, จ่ายเงิน และจัดส่ง กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน ทำให้คนซื้อออกจากเว็บไปเป็นจำนวนมาก จนมีสถิติว่า ถ้ามีคนเข้าเว็บ 100 คน จะซื้อของสำเร็จ 3 คน

แต่จะให้เข้าเว็บได้ 100 คน ก็เสียเงินค่าโฆษณาไปมากแล้ว

นี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ e-Commerce ในไทยไม่โตเท่าที่ควร ทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 8% ของการซื้อขายรวม แต่ไทยมีมูลค่าประมาณ 1-2% เท่านั้น

กลุ่มคนส่วนใหญ่ (สีฟ้า, เหลือง, แดง) แทบไม่เคยซื้อผ่าน e-Commerce

เลิกยุ่งกับ UI ดีกว่ามั้ย? มารู้จัก Non UI กันเถอะ

ใครที่บอกว่า ต้นทุนการทำ e-Commerce ไม่มี เพราะไม่ต้องมีหน้าร้าน เป็นคำกล่าวที่ผิด เพราะต้นทุนของ e-Commerce อยู่ที่การโฆษณา ซึ่งปัจจุบันแข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน red ocean สุดๆ ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะคู่แข่งทุกรายทำกันหมด

คิดง่ายๆ ถ้าทำโฆษณาออนไลน์ ลูกค้าอาจจะหาร้านเราเจอ แต่ถ้าไม่ทำ รับรองว่าหาไม่เจอแน่นอน (เพราะไม่มี)

จึงเกิดความคิดว่า ถ้าไม่ต้องการแข่งขัน ก็เลิกยุ่งกับ UI ดีกว่า

โดยทำอย่างไรก็ได้ ให้ออนไลน์ มาอยู่บนโลกจริงๆ นอกจอ จึงเกิดเป็น Non UI และ Internet of Things ขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นคลื่นลูกถัดไปของโลกอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มมีการพัฒนาแล้ว เช่น Google Home และ Amazon Alexa ที่สามารถสั่งงานด้วยเสียง ทำให้ทุกอย่างง่าย แก้ปัญหาเรื่อง ความขี้เกียจ, ซื้อไม่เป็น, ขั้นตอนเยอะ ได้ทันที

นอกจากการสั่งงานด้วยเสียง ยังมีการสั่งซื้อแบบกด เช่น Amazon Dash กดที่สินค้าเพื่อสั่งซื้อ, การสแกนบาร์โค้ดเพื่อสั่งซื้อ และ Social Commerce (Facebook, Instagram) ก็ถือเป็นรูปแบบของ Non UI เช่นเดียวกัน

Google Home
Amazon Dash

Social Commerce และ Chatbot ทางออกของ e-Commerce

ณัฐเศรษฐ์ บอกว่า Social Commerce ถือเป็นรูปแบบของ Non UI เช่นเดียวกัน คือ ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องหยิบของใส่ตะกร้า แต่ใช้วิธีแชทเพื่อซื้อของ ซึ่งด้วยระบบการชำระเงินที่สะดวกสบายมากขึ้น เมื่อแชทซื้อขายสินค้ากันเรียบร้อย สามารถส่ง URL ให้ผู้ซื้อคลิกเพื่อไปยังหน้าชำระเงินได้ทันที

แต่ผู้ขาย ไม่สามารถแชทกับผู้ซื้อทุกคนได้ตลอดเวลา ถ้าลูกค้าเข้ามาหลายคนพร้อมกัน หรือมานอกเวลางาน จึงเกิดการพัฒนา Chatbot ที่มากกว่าแค่การโต้ตอบอัตโนมัติ แต่ต้องตรวจสอบได้ว่าลูกค้าเป็นใคร ชอบซื้ออะไร อยู่ที่ไหน นำเสนอสินค้าและบริการได้ ทั้งหมดวิเคราะห์จาก Data

ณัฐเศรษฐ์ ศิรินันท์ธนานนท์ ซีอีโอของ BentoWeb

ตัวอย่างจาก BentoWeb นอกให้บริการ Social Commerce เปลี่ยน Facebook ให้เป็นร้านค้า ระบบ Chatbot ยังเป็น Semi-Auto คือระบบจะคุยกับผู้ซื้อโดยอัตโนมัติ แต่ ผู้ขาย สามารถเข้ามาแชทแทนได้ทันที สามารถเสนอโปรโมชั่นพิเศษได้ ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องคุยกับระบบตลอดเวลา ต่างจากในต่างประเทศ ที่เป็น bot 100% คนคุยแทรกไม่ได้

นอกจากนี้ ระบบ Chatbot ยังทำหน้าที่แทนผู้ซื้อ เพื่อตอบคำถามในหลายกรณี เช่น มีระบบทวงเงิน โดยหากยืนยันคำสั่งซื้อและรอโอนเงิน ระบบสามารถกำหนดระยะเวลาโอนเงินได้ เช่น 1-3 วัน หากใกล้หมดเวลา Chatbot จะแจ้งเตือนผู้ซื้อ แทนที่ผู้ซื้อจะต้องแชทมาถามเอง หรือ ระบบตอบคำถามว่า สินค้าส่งถึงไหนแล้ว โดยพัฒนา API ร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย ตอบลูกค้าได้ทันทีว่าของถึงไหนแล้ว

PojiMoji ตัวอย่าง Chatbot ของ BentoWeb ที่ไม่ต้องพิมพ์ แต่มีตัวเลือกมาให้กด สุดท้ายจึงเสนอสินค้าให้ แม้จะมี Add To Cart แต่ขั้นตอนง่าย จบที่แชท

สรุป

Non UI e-Commerce จะเป็นเทรนด์ใหม่ที่ยกระบบออนไลน์ของการซื้อขายสินค้า ออกมาไว้ในโลกออฟไลน์ ทำให้จับต้องได้มากขึ้น โดยมีอุปกรณ์มาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้ซื้อ หรือเป็นการพัฒนา Social Commerce และ Chatbot จุดประสงค์เพื่อให้ประสบการณ์ซื้อขายของออนไลน์ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้ ลดขั้นตอนต่างๆ ลง เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ จะเห็นระบบ Non UI e-Commerce ทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา