หรือพริตตี้จะไม่จูงใจ? งานรถยนต์ระดับโลกไร้เงาสาวสวยชุดรัดรูป ค่ายรถหันใช้ผู้เชี่ยวชาญแทน

เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ว่าได้ หลังงานรถอันดับ 1 ของโลก Geneva Motor Show แทบจะมีแต่หนุ่มสาวใส่ชุดทะมัดทะแมงมาแนะนำรถต่างๆ แทนที่จะเป็นสาวๆ พริตตี้

Lamborghini กับพริตตี้ข้าง // ภาพ Shutter Stock

#MeToo ทีเดียว สะเทือนทุกอุตสาหกรรม

ปกติแล้วพริตตี้กับงานแสดงรถยนต์แทบจะเป็นของคู่กัน เพราะสามารถสร้างสีสันในงานได้เป็นอย่างดี แต่ตอนนี้เรื่องเพศเริ่มกลายเป็นประเด็นทางสังคมมากขึ้น ยิ่งกระแส #MeToo ที่เริ่มจากในฮอลลีวู้ดเพื่อเปิดโปงการคุกคามทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็แพร่กระจายออกมาในอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงไม่แปลกที่ค่ายรถจะกังวลเรื่องนี้เช่นกัน

โดยผลกระทบแรกๆ ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คงไม่พ้นภายในงาน Geneva Motor Show ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8-18 มี.ค. เพราะค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ ที่ไปร่วมงานนั้นแทบจะยกเลิกการใช้พริตตี้ให้มายืนคู่กับรถยนต์ โดยแทนที่ด้วยทีมงานเพศชาย และหญิงที่เชี่ยวชาญด้านรถยนต์เชิงลึก มาสวมชุดทะมัดทะแมง บ้างก็เป็นชุดกีฬา เพื่อแนะนำรถรุ่นต่างๆ

บรรยากาศภายในงาน Geneva Motor Show // ภาพ Shutter Stock

ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Nissan รวมถึงแบรนด์รถยนต์หรู Lexus, Maserati, Jeep และ Alfa Romeo ที่ล้วนแต่ไม่ใช่พริตตี้ภายในงานนี้ โดย Sara Jenkins โฆษกของ Nissan มองว่า ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต้องพยายามสื่อให้ตัวคือคนจำหน่ายรถยนต์มากขึ้น ดังนั้นการใช้ผู้เชี่ยวชาญน่าจะเหมาะสมกว่า

ไม่ได้มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ซื้อรถยนต์

นอกจากนี้ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพศหญิงเริ่มหันมาซื้อรถยนต์มากขึ้น ดังนั้นการใช้เพศหญิงด้วยกันมาใส่ชุดวับๆ แวมๆ จึงไม่ได้เชิญชวนให้เกิดการซื้อรถยนต์อีกต่อไป เช่นในสหราชอาณาจักรก็มีเพศหญิงครอบครองรถยนต์เพิ่มขึ้น 66% ในระยะเวลาเพียง 10 ปี เมื่อนับตั้งแต่ปี 2559 ลงไป ซึ่งมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับเพศชาย

พริตตี้งานรถยนต์ในเมืองไทยของ Rocket Sound // ภาพ Shutter Stock

ขณะเดียวกันในเยอรมนีเอง การซื้อรถยนต์ใหม่ก็มาจากเพศหญิงถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด และในฝรั่งเศสก็คิดเป็น 37% แล้วเช่นกัน แสดงให้เห็นว่านอกจากเรื่องการร่วมมือรณรงค์ไม่คุกคามทางเพศของค่ายรถยนต์ต่างๆ แล้ว การปรับแผนการตลาดเช่นนี้ก็เพื่อรักษายอดขายเอาไว้ให้ได้เหมือนเดิมเช่นกัน

แล้วเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในไทยหรือไม่?

แต่ในประเทศไทยนั้นโอกาสที่พริตตี้จะลดบทบาทในงานแสดงรถยนต์อาจต้องรอสักระยะหนึ่ง เนื่องจากส่วนตัวมองว่า ความสนใจในเรื่องการรณรงค์ไม่คุกคามทางเพศในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในจุดเริ่มต้น และไม่ได้มองว่าการมีหญิงสาวใส่ชุดรัดรูปมายืนข้างๆ รถยนต์เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาอย่างช้านาน เพื่อสร้างสีสันภายในงาน

สรุป

แม้ค่ายรถยนต์ในต่างประเทศจะเริ่มทำแล้ว โดยเฉพาะแบรนด์เกาหลีอย่าง Ssangyong ที่ค่อนข้างกังวลในเรื่อง #MeToo ที่แพร่หลายในวงการบันเทิงเกาหลีแล้ว จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไม่ใช้พริตตี้เข้ามาร่วมงาน Geneva Motor Show แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ประเทศไทยคงต้องรออีกนานกว่าจะเข้าใจ

ทั้งนี้ผู้จัดงาน Geneva Motor Show ไม่ได้กำหนดนโยบายชัดเจนว่าห้ามใช้พริตตี้เพื่อสนับสนุนการขาย โดยที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ทำนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละแบรนด์ตัดสินใจเอง โดยในงานที่จะจัดขึ้นนี้มีรถยนต์แสดงกว่า 900 คัน และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 7 แสนคน

อ้างอิง // The Straits Times, Jalopnik

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา