หาเงินเก่ง ออมได้  แต่ใช้ไม่เป็น ชีวิตก็จบ!!

เรื่องเงินเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ง่ายเอาซะเลย ไม่ว่าจะหาเงินมาได้มากหรือน้อย ยังไง๊ยังไงก็ต้องใช้จ่าย ทั้งค่าข้าว ค่าห้อง หรือค่าใช้จ่ายหมวดความสนุกสนาน และอีกสารพัด ว่าแต่ต้องใช้จ่ายแบบไหนให้สมดุล และเรียกได้ว่าใช้เงินเป็นล่ะ

ทางกรุงศรีคอนซูมเมอร์ที่ต่อยอดโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ ในแนวคิดใช้เงินเป็น เห็นทางรวย ซึ่งเชิญกูรูการเงิน อย่างมาดามฟินนี่จากออมมันนี่ นักธุรกิจใหญ่ สามีคุณสู่ขวัญโชค บูลกุล” CEO ฟาร์มโชคชัยเกรทวรินทร นักแสดงและเจ้าของร้านอาหาร รวมถึงมิลิน ยุวจรัสกุล เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Milin  มาหาคำตอบกัน

ก่อนเข้าเรื่อง ใครล่ะ ที่มีหนี้เยอะ? ใช้จ่ายเก่ง?

ณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (กรุงศรีคอนซูมเมอร์) และประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล บอกว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 78% ส่วนหนึ่งเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และคนไทยก็สร้างหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกลุ่มที่มีหนี้เยอะที่สุดในทุกประเภทสินเชื่อคือ Gen Y (อายุ 21-38 ปี) เป็นกลุ่มที่เข้าช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว โดยเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มีหนี้กว่า 50%

“Gen Y เป็นคนกล้าคิด กล้าใช้ กล้าลอง กล้าล้ม ต่างจากคนรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้เป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ เช่น ทานอาหารนอกบ้าน ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ฯลฯ  เป็นกลุ่มที่ให้ความสุขตัวเองมากขึ้น บางคนไม่ได้ออมเงินไว้ ไปเที่ยวก่อนแล้วค่อยกลับมาใช้หนี้ ทำให้นอกจากมีค่าใช้จ่ายสูงไป ยังมีหนี้อีก” 

ภาพจาก กรุงศรีคอนซูมเมอร์

อย่างตอนนี้ Gen Y มีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาท/คน/เดือน มีวงเงินบัตรเครดิต 70,000 บาท/คน/เดือน แต่มีค่าใช้จ่ายปีละ 113,000บาท ซึ่งคิดเป้นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ ซึ่งยอดใช้จ่ายเยอะ ก็มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เราก็ต้องให้ความรู้กลุ่มนี้เยอะหน่อย ซึ่งจะส่งผลดีให้หนี้ของคนไทยลดลงในระยะยาวเพราะคนกลุ่มนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีหนี้ตอนนี้ ต่อไปก็เข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็นต่อการวางแผนชีวิตได้ยาก

ภาพจาก กรุงศรีคอนซูมเมอร์

วินัยทางการเงิน จะเริ่มไง ให้ยั่งยืน

ณญาณี เล่าต่อว่า บางคนมองเก็บเงินเป็นเรื่อยาก ทำให้ชีวิตไม่สนุก  ดังนั้นเราเลยสร้างโครงการนี้มาสื่อสารให้เข้าถึงคนมากขึ้น มีทั้ง Facebook page “ฉลาดคิด ฉลาดใช้มีสัมมนา  มีวีดีโอ ให้รู้สึกสนุก ได้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย นำไปใช้ได้จริง รวมถึง มี Online Comunity คือ กลุ่มใน Feacbook “ชมรมคนมีตังค์ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมาช่วยตอบข้อสงสัย มาช่วยวางแผนการเงิน ทั้งการออม การหารายได้ และใช้เงินให้เป็น

แบบในการจัดการเงินง่ายที่สุด คือ แบ่งเงินเป็น 3 ส่วน 1. เงินออม ไม่ต่ำกว่า 20% ของรายได้  2. ตั้งแผนค่าใช้จ่ายจากส่วนที่เหลือ แยกบัญชีออมจ่ายให้ชัดเจน  3. มีวินัย เก็บให้ได้ตามที่ตั้งไว้ เงินตามที่ฝัน 

ภาพจาก กรุงศรีคอนซูมเมอร์

โชค บูลกูลนักธุรกิจพันล้าน กับบริษัทไร้หนี้

โชค บูลกุล CEO ฟาร์มโชคชัย สามีของ สู่ขวัญ บูรกุล บอกว่า ธุรกิจเราเป็นธุรกิจที่ไม่มีหนี้ ดำเนินงานด้วยเงินสดทั้งหมด โดยแบ่งเป็น ตอนนี้บริษัทเราแบ่งเงินออกเป็น 5 ส่วน 1. ส่วนที่กันไว้ลงทุน 2. ส่วนที่สำรองไว้สำหรับเงินเฟ้อ 3. เงินออมของบริษัท 4.เงินเผื่อเตรียมเอาธุรกิจออกหากไม่สำเร็จ 5. เงินของขวัญแก่พนักงาน บริษัทเราไม่มีโบนัส ดังนั้นทุกคนจะเห็นว่าถ้าเงินหักจาก 4 แล้วจะกลายเป็นของขวัญ คนก็จะโฟกัสที่งาน 4 ส่วนนั้นทำให้ทั้งระบบดีขึ้น

ธุรกิจฟาร์มโชคชัย เราไม่ได้เอาเรื่องเงิน หรือคำว่ารวยเป็นตัวตั้ง แต่เราเริ่มมาจาก Passion ที่อยากทำให้ธุรกิจที่ติดหนี้อยู่ 400-500 ล้านบาทมันฟื้นขึ้นมา ทำให้การเกษตรมันดูแล้วเท่ เราเดินเข้าฟาร์มแล้วรู้สึกว่าฟาร์มเราระบบมันดีจังเลย อย่างธุรกิจผมไม่ได้มองว่าเราจะยิ่งใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ผมตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยากจะทำ

ภาพจาก Shutterstock

ผมเริ่มที่ตอนเด็ก ตอนไปอยู่ต่างประเทศ แม่ก็ให้เงินมา 1 ก้อน ให้บริหารเองอยู่แล้ว แรกๆก็ไม่พอ เพราะมีอะไรที่อยากได้ เราก็กระโจนใส่ แต่การไม่มีเงินจะกิน และไม่มีเงินซื้อของชีวิตประจำวัน ก็กลายเป็นบทเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารเงินในบริษัท

และถ้าถามว่า Gen Y ควรจะใช้เงินอย่างไร เริ่มจุดที่ง่ายคือ เราต้องไม่เป็นสาวกของใคร เพราะกระแสโลกธุรกิจทุกวันนี้ โดยเฉพาะบริษัทซอฟท์แวร์ใหญ่ๆ ที่เขาออกรุ่นใหม่ๆมาทุกปี เขาพยายามทำเพื่อให้เราเป็นสาวกเขา ถ้าเราไม่เข้าใจ เงินเราก็ตกเป็นสาวกเขาแน่นอน

และบางคนติดกับดักความรวย เรามองว่าตัวเองขาด และพยายามจะเติมให้เต็ม ซึ่งมันทำให้เรามองเป้าหมายไม่ชัดเจน ดังนั้นเราต้องโฟกัสในเป้าหมาย อย่าไปเทียบเรื่องเราขาดกับสิ่งที่เรามี แล้วเราจะได้มีความสุข

ภาพจาก กรุงศรีคอนซูมเมอร์

Milin- เกรท วรินทร์  เจน Y คนมีแพชชั่น มีความฝัน ต้องไปให้ถึง

มิลิน ยุวจรัสกุล เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Milin แชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า เริ่มทำธุรกิจนี้มาเกือบ 10 ปี ตอนเริ่มมีที่บ้านสนับสนุน ระยะแรกก็ใช้จ่ายเต็มที่เพื่อให้ได้งานที่ออกมาดีที่สุด แต่เมื่อลงสนามทำธุรกิจจริง เราต้องวางแผนทางการเงิน บริหารจัดการให้เป็น และปรับตัวตามภาวะตลาดให้ทัน

แต่ก่อน 15-30 วัน เราอาจจะมาดูบัญชี ดูเงินสักครั้ง แต่ตอนนี้เราต้องดูทุกวัน หลังห้างปิดต้องมาดูว่า เสื้อผ้าตัวไหนขายได้ แบบแฟชั่นไหนกำลังมา เพราะแฟชั่นตอนนี้เปลี่ยนเร็วมาก เราต้องศึกษาตลาดและปรับตัวให้ทัน ส่วนตัวเรื่องการเงิน ก็ช้อปปิ้งเก่ง แต่จะให้ออมอย่างเดียวไม่มีความสุข ชีวิตก็ไม่ใช่ เคล็ดลับตอนนี้เลยดูยอดบัตรเครดิตบ่อยๆ เราจะค่อยๆซื้อน้อยลงทีละนิด ที่สำคัญคือเราต้องใช้จ่ายให้พอดูแลตัวเอง กิจการ และครอบครัวของเราให้ได้” 

ภาพจาก กรุงศรีคอนซูมเมอร์

เกรทวรินทร ปัญหกาญจน์ นักแสดงและเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ บอกว่า ส่วนตัวผมมีงานประจำคือ ละคร ทำงานค่อนข้างหนัก แต่ก่อนผมจะฝากเงินไว้ที่แม่ จะรู้สึกปลอดภัยมาก แม่จะเป็นคนไปลงทุนต่อแต่พอเรา มีเพื่อนชวนทำธุรกิจ เราก็เริ่มศึกษา จนตอนนี้เปิดร้านร้านอาหารญี่ปุ่น 2 ร้าน  ร้านกาแฟ 1 ร้าน เราก็ต้องดูเรื่องการเงินมากขึ้น มีวินัยทั้งการบริหารร้าน และส่วนตัว

“เราต้องมีวินัยในการเก็บเงิน เพราะ อะไรอะไรก็ง่ายขึ้นช้อปออนไลน์ก็มี ต้องห้ามใจอย่างเดียว”

ภาพจาก shutterstock

กูรูการเงิน แนะบริหารเงินต้องไม่น่าเบื่อ

พนิดา ชูกุล หรือ มาดามฟินนี่ กูรูของเว็บไซด์ ออมมันนี่ บอกว่า คนเราตอนนี้หาเงินเก่ง บางคนออมเงินได้ แต่มาถึงจุดแย่เพราะใช้เงินไม่เป็น แต่คนรุ่นใหม่เราต้องการมีชีวิตอย่างที่ฝัน ก็ไม่อยากเก็บเงินอย่างเดียวโดยใช้ชีวิตไม่สนุก ดังนั้นในโครงการนี้ ก็ออกแบบ กิจกรรมไว้หลากหลายให้ทุกคนวางแผนการเงินแบบไม่น่าเบื่อ

แต่เรื่องการเงินจุดสำคัญคือ ไม่ใช่แค่ฟังได้ข้อมูลเพิ่มแล้วจะทำได้เลย ต้องมีวินัย ใช้เวลา และที่สำคัญต้องมีกำลังใจ อย่างการมี กลุ่ม Facebook ของ กรุงศรีฯ เป็นกำลังใจให้คนที่อยากเปลี่ยนได้ดีมาก เพราะบางครั้งคนรอบตัวเรากดดัน เราต้องการกำลังใจ และข้อมูลจากคนที่พยายามเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปด้วย

 

สรุป

กรุงศรีคอนซูมเมอร์ เปิดโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ ในแนวคิด “ใช้เงินเป็น เห็นทางรวย” เปิดตัวเลข Gen Y หนี้เยอะ ใช้จ่ายเยอะ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้เงินให้เป็น ส่วนการเงินภาคธุรกิจสำหรับ Gen Y แม้จะมี Passion เป็นตัวนำ แต่ต้องมองสถานการณ์จริง บริหารเงินให้เป็น ทันท่วงที และเปลี่ยนแปลงตามกระแสการตลาดให้ทัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา