“ไปนั่งโง่ ๆ ริมทะเลกันเถอะ”
“แผนของวันนี้ ขอนอนมองเพดานเงียบ ๆ บ้างแล้วกันนะ”
“อยากเดินชิว ๆ ไปเรื่อยเปื่อย ไปสุดตรงไหนก็ตรงนั้นแหละ”
ถ้าคุณเป็นมนุษย์ผู้มีอาการหมดไฟที่เคยพูดประโยคเหล่านี้ แสดงว่าคุณได้พยายามฮีลใจตัวเองไปแล้วระดับนึง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แถมยังเป็นวิธีชั้นดีในการจัดการอาการหมดไฟ อย่างน้อยก็ตรงจุดตามศาสตร์ “Niksen” ของชาวดัตช์ ประเทศที่สุขเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ถ้าชีวิตเป็นละคร เราก็กำลังเล่นกันคนละหลายบทบาท ไหนจะต้องเป็นคนทุ่มเทให้ครอบครัว เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานได้อย่างไร้ที่ติ ไปพร้อมกับการเป็นเจ้าของเงินในบัญชีหลักล้าน มีพอร์ตลงทุนที่สร้าง Passive Income แถมยังต้องเป็นคนรักที่ดีมีเวลาใส่ใจคนข้าง ๆ
พอต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน บางส่วนของชีวิตก็ตกหล่นไป ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจไว้ จนเกิดเป็นอาการหมดไฟ และถ้าคุณกำลังเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องวุ่นวายใจไปเพราะแม้แต่คนในประเทศที่มีความสุขเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างเนเธอร์แลนด์ก็ยังเจอปัญหาเดียวกันจนแนวคิด “Niksen” ที่มุ่งหาทางออกให้คนในยุคสมัยใหม่นี้กลายเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ
การฝึก Niksen คือ การไม่ต้องทำอะไรเลย
หลายคนอาจไม่รู้ว่า Niksen แปลว่าอะไร แต่คุณอาจเคยฝึกฝนศาสตร์ของ Niksen ไปแล้วโดยไม่รู้ตัวผ่านประโยคที่พูดออกมาโดยไม่ตั้งใจในยามเหนื่อยล้าที่พูดถึงไปตอนต้น นั่นเพราะ Niksen หมายถึง การอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง
อย่างที่พูดไปแล้วว่า แม้แต่คนที่อยู่ในประเทศที่มีความสุขมากก็ยังหนีการหมดไฟไม่พ้นจนต้องหาทางออก การศึกษาในปี 2023 จากองค์กรวิจัยในเนอเธอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า TNO พบว่า เหล่าคนทำงานชาวดัตช์ 1 ใน 5 กำลังเผชิญกับอาการหมดไฟ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับปีก่อนหน้า
Olga Mecking อธิบายแนวคิด Niksen ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า “Niksen: Embracing the Dutch Art of Doing Nothing” เธอให้นิยาม Niksen ว่าเป็นการไม่ทำอะไรเลย หรือทำแบบไร้จุดมุ่งหมาย ไม่ต้องดูหนัง ไม่จับโทรศัพท์มือถือ แค่อยู่เฉย ๆ
เธออธิบายว่า ปกติเวลาเราลงมือทำอะไรสักอย่าง เรามักจะคาดหวังผลลัพธ์อยู่เสมอว่าทำสิ่งนี้แล้วต้องได้อย่างนู้นอย่างนี้ คิดง่าย ๆ อย่างเวลาเตรียมอาหาร บางคนก็มองไปถึงว่า อาหารมื้อนี้ต้องทำให้น้ำหนักลดลงได้แน่ เวลาไปเดินเล่นก็คิดว่าเดี๋ยวถ้าเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะครบ 10,000 ก้าวเอง สิ่งที่สูญเสียไปจากการคาดหวังผลลัพธ์ก็คือความสนุกกับการแค่กินหรือแค่เดินเฉย ๆ ไป Niksen เลยเป็นเรื่องของการปล่อยวางกับผลลัพธ์
Ruut Veenhoven นักสังคมวิทยาและศาสตราจารย์จาก Erasmus University Rotterdam ในเนเธอร์แลนด์ผู้ศึกษาเรื่องความสุข มองว่า Niksen คือ การนั่งเฉย ๆ หรือไม่ก็มองออกไปนอกหน้าต่าง ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องใส่ใจกับอะไรเลย ไม่เหมือนการทำสมาธิที่ต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังคิดและทำอะไร
ศาสตร์แห่งการ Do Nothing vs. ลัทธิคลั่ง Productivity
Carolien Hamming กรรมการผู้จัดการ CSR Centrum สถาบันให้คำแนะนำในการพัฒนาตนเองในเนเธอร์แลนด์ แนะนำว่า ให้ลองใช้เวลาสักแปปหนึ่งในแต่ละวันเพื่อฝึกที่จะไม่ทำอะไรเลย ในช่วงแรกให้อดทนกับความกระอักกระอ่วนไปก่อนแล้วลองเพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญ คือ การใช้เวลาเรื่อยเปื่อยต้องอาศัยความกล้าพอตัวถึงจะตัดขาดจากความรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา
ทำไม Carolien Hamming ต้องพูดถึงความกระอักกระอ่วนในครั้งแรกที่ทำ? เพราะแม้ในหลายครั้งเราจะอยากนั่งโง่ ๆ ริมทะเลไปตลอดชีวิต ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร พอเอาเข้าจริง การไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ง่ายสำหรับบางคนขนาดนั้น เพราะศาสตร์ของ Niksen ดันไปขัดแย้งกับแนวคิดความ Productivity ที่ทำให้สังคมยุคใหม่เคยชินกับการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน จนการนั่งเหม่อไปเรื่อยเปื่อยดูเป็นเรื่องแปลกประหลาด
แต่ถึงจะดูประหลาด ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ดูอย่างชาวดัตช์เองก็ยังไม่เก่งเรื่องการอยู่เฉย ๆ เหมือนกัน ในอดีต Niksen ถูกมองว่าเป็นความขี้เกียจ เป็นความตรงข้ามสุดขั้วของ Productivity จากความเชื่อที่ฝังรากลึกว่าคนเราจะต้องทำตัวมีประโยชน์อยู่ตลอดเวลา คำว่า Niksen ก็เลยมีความหมายได้ทั้งบวกและลบในภาษาดัตช์ คือ แปลว่า “เหนื่อยมาทั้งวัน พักหน่อยก็ได้” หรือ “นี่เธอไม่คิดจะทำอะไรสักอย่างเลยเหรอ?” ก็ได้
Niksen กลับได้รับความสนใจมากขึ้นแต่ตั้งแต่ช่วงโควิด ที่ระดับความเครียดและความกังวลของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้น เราพากันหาสิ่งยึดเหนี่ยวผ่านแนวคิดของการหา Work-Life Balance ดังนั้น ถึงเมื่อก่อนจะไม่ได้รับการยอมรับ แต่การฝึก Niksen ในยุคนี้ก็มีข้อดี
Eve Ekman ผู้อำนวยการสถาบันให้คำปรึกษาใน University of California ผู้ศึกษาภาวะเครียดและหมดไฟบอกว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รองรับว่าการใช้ชีวิตให้ช้าลงส่งผลดีตั้งแต่ด้านอารมณ์ที่ช่วยลดการวิตกกังวลไปจนถึงข้อดีด้านร่างกายอย่าง การชะลอวัย การมีต่อสู้กับโรคหวัด
Niksen ยังช่วยให้คนเราเกิดความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพราะแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรเลยแต่สมองยังคงประมวลผลข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ทำให้ช่วงที่ไม่ทำอะไรเลยนี้เองที่สมองจะคิดหาทางออกของปัญหาชีวิตที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะพิชิตเป้าหมายชีวิตและทำให้ภาพของอนาคตชัดเจนขึ้นมาในหัว
ถึงอย่างนั้น การไม่ทำอะไรเลยก็มีข้อที่ต้องระวังอยู่บ้าง งานวิจัยที่มีชื่อว่า Pros and Cons of a Wandering Mind ในปี 2013 พบว่า 24 ชั่วโมงหลังจากกลุ่มตัวอย่างฝึกใจให้ล่องลอย อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นแถมยังทำให้คืนต่อมานอนหลับยากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ ผลลัพธ์ในช่วง 24 ชั่วโมงไม่ได้เป็นตัวบอกสภาวะทางอารมณ์ในระยะยาว
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่า การปล่อยใจนานเกินไปอาจทำให้จมอยู่กับความคิดฟุ้งซ่านแทนที่จะรู้สึกสดชื่น
เราไม่สามารถปล่อยตัวล่องลอยได้ตลอดเวลา การมีช่วงที่ใช้ชีวิตอย่างกะตือรือร้นเลยสำคัญพอกับการปล่อยวางและหยุดพัก เพราะแม้ว่าการพักสักหน่อยจะช่วยให้รู้สึกเหนื่อยน้อยลงแต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยให้เกิดความพึงพาใจในชีวิตที่จะนำพาไปสู่ความสุขได้
อาการหมดไฟกับชีวิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไปอยู่ที่ว่าเราจะจัดการตัวเองยังไงดี
พอเป็นเรื่องของจิตใจแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าวิธีเดียวกันจะสามารถใช้ได้กับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้พักกายพักใจอย่างแท้จริง ทำให้แนวคิดการใช้ชีวิตได้รับความนิยมมาก ไม่ว่าจะเป็น “Hygge” ที่ส่งตรงจากเดนมาร์ก “Lagom” ของสวีเดน หรือใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยอย่าง “Kintsuki” จากญี่ปุ่น “Niksen” ก็เป็นอีกแนวทางที่อาจลองเอาไปปรับใช้กับตัวเองได้ในแบบของใครของมัน
อ่านเพิ่มเติม
- ไม่น้อยไป ไม่มากเกิน แค่พอดี รู้จัก “ลากอม” แนวการใช้ชีวิตสไตล์สวีเดนที่มุ่งหาความสมดุล
- รู้จัก “ฮุกกะ” ปรัชญาชีวิตอันเรียบง่ายจากเดนมาร์ก ประเทศที่คนมีความสุขเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
- เพราะใคร ๆ ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ Kintsugi ศาสตร์แห่งการโอบรับตัวเองในวันแหลกสลาย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา