Nikon เผยภาพรวมธุรกิจกล้องในประเทศไทย: ซบเซาลงทุกปี แม้โควิด-19 ยังไม่ระบาดก็ตาม

ก่อนหน้านี้เราคงคุ้นเคยกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สายการบิน และโรงแรม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ความจริงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึง นั่นคือ ธุรกิจกล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ

วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงภาพรวมของธุรกิจกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ในยุคก่อนและหลังโควิด-19

สำหรับภาพรวมของธุรกิจกล้องในประเทศไทยนั้น  ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทาง การท่องเที่ยว รวมถึงการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ได้รับผลกระทบ โดยภาพรวมของธุรกิจกล้องในประเทศไทย วีระ ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนโควิด-19 เดือนมกราคม-มีนาคม 2563 และช่วงหลังโควิด-19 เดือนเมษายน-กันยายน

มูลค่าตลาดธุรกิจกล้องไทย ซบเซามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19

ในช่วงเดือนมกราคม ธุรกิจกล้องในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 384 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าตลาด 349 ล้านบาท ส่วนเดือนมีนาคม มูลค่าตลาด 210 ล้านบาท และโดยรวมในไตรมาสแรก มูลค่าตลาดลดลง 34% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ในช่วงหลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เดือนเมษายน มูลค่าตลาดเหลือเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน มูลค่าตลาดอยู่ระหว่าง 201-296 ล้านบาท

หากนับเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ เดือนมกราคม-กันยายน มูลค่าตลาดทั้งหมดจะอยู่ที่ 4,104 ล้านบาท ด้วยยอดขาย 124,112 ตัว เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ มูลค่าตลาดทั้งหมดจะอยู่ที่ 2,294 ล้านบาท ด้วยยอดขาย 65,370 ตัว มูลค่าลดลง 44% และยอดขายลดลง 47%

แต่หากแยกประเภทของกล้อง ส่วนแบ่งการตลาดจะแบ่งเป็น กล้อง DSLR 26% และ Mirrorless 74% ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนโควิด-19 นอกจากนี้ยังแบ่งส่วนแบ่งการตลาดได้เป็น กล้อง Full Frame สัดส่วน 43.3%

กล้อง Nikon

ในส่วนของ Nikon นับว่าเป็นแบรนด์กล่องที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 คิดเป็น 22.4% โดยจับกลุ่มไปที่กล้อง Full Frame และ High End เป็นหลัก ส่วนแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 คิดเป็น 28.8%

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของธุรกิจกล้องก็ไม่ได้สดใสมากนัก แม้จะไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เพราะมูลค่าตลาดของธุรกิจกล้องลดลงเรื่อยๆ ทุกปี นับตั้งแต่ปี 2018 ที่มีมูลค่า 7,650 ล้านบาท ปี 2019 5,630 ล้านบาท (ลดลง 26%) และในปี 2020 คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกล้องทั้งปีจะอยู่ที่ 3,220 ล้านบาท (ลดลง 43%) โดยในปี 2021 คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกล้องจะลดลงอีก 25% ของปีนี้

โควิด-19 ดันสัดส่วนขายออนไลน์เพิ่ม

ส่วนด้านช่องทางการขาย โควิด-19 ก็กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการซื้อขายกล้องผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงเดือนมกราคม มีสัดส่วนการซื้อกล้องผ่านช่องทางออนไลน์เพียง 15.8% เทียบกับในช่วงเดือนเมษายน ที่มีสัดส่วนการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 52.2% และเมื่อกับช่วงเวลาทั้งปี ในปี 2019 สัดส่วนการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จะอยู่ที่ 9.2% เท่านั้น ส่วนในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 21%

กล้องไม่ใช่ของทั่วไป แต่เน้นความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

วีระ เล่าเพิ่มเติมว่า ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูปได้ดีมากขึ้น ทำให้กล้อง กลายเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานเพี่อวัตถุประสงค์เฉพาะมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ได้เป็นการถ่ายภาพทั่วๆ เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้คนใช้กล้อง หันมาให้ความสนใจกับการใช้กล้องเพื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว มากพอๆ กับการถ่ายภาพนิ่ง รวมถึงการใช้กล้องเพื่อไลฟ์สตรีม และประชุมออนไลน์อีกด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา