ผู้เชี่ยวชาญเผยการเป็น “คนดี” ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์เสมอไป

ผู้เชี่ยวชาญด้าน ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligent) เปิดเผยความเข้าใจผิดของคนบางส่วน ที่เข้าใจว่า “การเป็นคนดี” ก็เท่ากับเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะความฉลาดทางอารมณ์ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมอีก

ความฉลาดทางอารมณ์ ภาพจาก Shutterstock

ที่ผ่านมาการตัดสินความฉลาดของแต่ละบุคคล เราคงนึกถึงความฉลาดในการคิด การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความฉลาดในรูปแบบนี้เรียกว่าความฉลาดทางสติปัญญา หรือ Intelligence Quotient: IQ แต่ความจริงแล้วยังมีความฉลาดในอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินความสามารถของคน นั่นคือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligent)

หากแบ่งประเภทของความฉลาดทางอารมณ์แบบง่ายๆ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้านหลักๆ ได้แก่

    • ด้านการรู้จักตนเอง (Self Awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง รู้ว่าทำไมจึงเกิดอารมณ์แบบนี้ และเข้าใจว่าอารมณ์นี้จะส่งผลกับตัวเราอย่างไร
    • ด้านการจัดการตัวเอง (Self Management) เป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง เช่น สงบสติอารมณ์ในช่วงเวลากดดัน หายอารมณ์เสียได้ง่าย
    • ด้านการตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้ อ่าน และตีความอารมณ์ของบุคคลอื่น ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
    • ด้านการจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management) เป็นความสามารถด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล ที่ทำให้เกิดการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้บทสนทนามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว

อย่างไรก็ตามความฉลาดทางอารมณ์ 4 ด้านหลักๆ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่สามารถแบ่งออกเป็น 12 ด้านย่อยๆ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้กับชีวิต โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

เมื่อได้รู้ถึงลักษณะของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์แล้ว หลายๆ คน อาจเกิดความเข้าใจผิดว่า คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ คือ การเป็นคนดี เพราะลักษณะพื้นฐานของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ คือ คนที่เข้าใจทั้งอารมณ์ของตัวเอง และผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ได้ แถมยังมีทักษะการสื่อสารที่ดีอีกด้วย จึงไม่แปลกที่จะมีคนเข้าใจผิดว่า การเป็นคนดี กับการมีความฉลาดทางอารมณ์คือเรื่องเดียวกัน

Daniel Goleman นักจิตวิทยา หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์ ผู้เขียนหนังสือ Emotional Intelligence: Why it can matter more than IQ เล่าว่า ตลอดเวลา 25 ปีหลังจากที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ มีผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ คือ คนที่เป็นคนดี ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

Goleman อธิบายว่า สิ่งแรกที่คนมักนึก เมื่อพูดถึงคำว่า “คนดี” คือคนที่เราสบายใจที่จะทำงานด้วย แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช้เสมอไป เพราะบางครั้งคนที่เป็นผู้จัดการ เป็นคนมีเสน่ห์ และสุภาพกับเจ้านาย และถูกค้า แต่ในอีกมุมหนึ่งคนเดียวกัน อาจกลายเป็นคนที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดีให้กับลูกน้องก็ได้ ดังนั้นความสัมพันธ์ในทุกๆ รูปแบบ จึงเป็นตัวตัดสินว่า คนๆ นั้น มีความฉลาดทางอารมณ์จริงๆ หรือไม่

หรือในทางธุรกิจ Goleman อธิบายว่า บางครั้งความเป็นคนดี อาจทำให้คนๆ นั้นมีนิสัยชอบหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และกลายเป็นคนที่ถูกควบคุมได้ง่าย ซึ่งก็ไม่ใช่ลักษณะของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ที่ดี และบางครั้งความเป็นคนดี ก็อาจไม่ตอบโจทย์กับองค์กร องค์กรย่อมอยากได้คนที่มีความแข็งแรง มากกว่าคนดี

คนดี อาจไม่ใช่ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์เสมอไป

จากลักษณะของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 4 ด้านหลัก ได้แก่การรู้จักตนเอง (Self Awareness), การจัดการตัวเอง (Self Management), การตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness) และการจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management) เป็นการแสดงให้เห็นความ คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นคนดีเสมอไป เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต้องรู้จักเผชิญหน้าเมื่อต้องการอย่างมีกลยุทธ์

ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัด 2 สถานการณ์ ระหว่าง การสร้างความขัดแย้งกับคู่สนทนา และการพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความตรงข้ามกัน ลักษณะของความฉลาดทางอารมณ์ 2 ด้าน คือ ด้านการรู้จักตนเอง และด้านการจัดการตัวเอง จะช่วยทำให้เราสามารถรับรู้ และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ส่วนด้านการตระหนักรู้ทางสังคม จะช่วยทำให้เราเขาใจสถานการณ์จากในมุมมองของผู้อื่น ทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าได้รับการรับฟัง และสนใจความต้องการของอีกฝ่าย ส่วนด้านการจัดการความสัมพันธ์ก็จะมีส่วนสำคัญในการจัดการกับความขัดแย้ง

ภาพจาก Shutterstock

ความเห็นอกเห็นใจก็สำคัญไม่แพ้ความฉลาดทางอารมณ์

นอกจากความเข้าใจผิดว่าการเป็นคนดีหมายถึงคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์แล้ว Goleman ยังชี้ถึงปัญหาว่าบางครั้ง การมีความฉลาดทางอารมณ์เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ แต่คนที่เป็นผู้นำต้องมี “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Empathy ต่อผู้อื่นด้วย

สำหรับองค์ประกอบของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของ Goleman แบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

    • ด้านการรับรู้ คือ การรับรู้ความคิดของผู้อื่น
    • ด้านอารมณ์ คือ การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น
    • ด้านความใส่ใจ คือ การใส่ใจ รู้สึกแคร์ความคิดของผู้อื่น

Goleman ยกตัวอย่างคนที่ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในด้านความใส่ใจว่า คนเหล่านี้จะเป็นเจ้านายไม่ดี เพราะชอบควบคุมลูกน้อง มีมาตรฐานการทำงานที่สูง จนกดดันให้ลูกน้องทำตามเป้าหมายในระยะเวลาสั้นๆ แม้ว่าจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในอีก 2 ด้าน คือ ด้านการรับรู้ และอารมณ์ แต่ขาดด้านความใส่ใจก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะรู้ความคิด รู้ความรู้สึกของผู้อื่น แต่ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร

ดังนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การเป็นคนดีเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นคนที่มีทั้งความฉลาดทางอารมณ์ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ครบทุกด้านอีกด้วย จึงจะกลายเป็นคนคนดีอย่างแท้จริง

ที่มา – HBR

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา