นักวิจัย Harvard เผย 12 ลักษณะนิสัย ของบุคคลที่ประสบความสำเร็จและฉลาดทางอารมณ์ต้องมี

ถ้าพูดถึงเรื่องความฉลาด หลายคนคงนึกถึงความสามารถในการคิด การแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งความฉลาดในรูปแบบนี้เรียกว่าความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) แต่ในความจริงแล้วแค่ความฉลาดทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ด้วยเช่นกัน

ความฉลาดทางอารมณ์ ภาพจาก Shutterstock

เพราะในปัจจุบันความฉลาดทางอารมณ์กลายเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่บริษัทต่างๆ มักใช้ในการทดสอบพนักงานก่อนเข้าทำงาน รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งก็มีการทดสอบนักศึกษาด้วยเช่นกัน เพราะความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพในการทำงานได้เช่นเดียวกับความฉลาดทางสติปัญญา

โดยส่วนใหญ่แล้วความฉลาดทางอารมณ์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลักๆ ได้แก่การรู้จักตนเอง (Self Awareness), การจัดการตัวเอง (Self Management), การตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness) และการจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management) ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าความฉลาดทางอารมณ์มีเพียง 4 ด้านหลักๆ เพียงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วมันมีรายละเอียดมากกว่านั้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้ทำการศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 4 ด้านหลักข้างต้น แล้วแบ่งออกเป็นลักษณะนิสัยด้านย่อยๆ เพิ่มอีก 12 ด้านดังนี้

ภาพจาก Unsplash โดย Franciele Cunha

การรู้จักตนเอง (Self Awareness)

เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง และรู้ด้วยว่าทำไมถึงเกิดอารมณ์แบบนี้ขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลยังไงกับตัวเราเอง ซึ่งมีลักษณะนิสัยย่อยลงไปดังนี้

  • การรู้จักในอารมณ์ของตนเอง (Emotional Self Awareness) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่มีความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อจำกัดของตัวเอง ทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ด้วยความสามารถของตัวเอง และรู้ว่าเมื่อเป็นช่วงเวลาที่ควรจะพึ่งพาคนอื่นๆ รวมถึงรู้คุณค่าของตัวเอง มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่จะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้เป็นอย่างดี

การจัดการตัวเอง (Self Management)

เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ในความควบคุมให้ได้ ซึ่งนับว่าเป็นความสามารถที่มีความสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นผู้นำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาฉุกเฉิน เพราะหากผู้นำเป็นบุคคลที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ลูกน้องหรือคนในทีมก็จะสามารถทำได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งความสามารถในการจัดการตัวเองมีลักษณะนิสัยย่อยๆ ดังนี้

  • การรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Emotional self-control) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่สามารถควบคุม สงบสติอารมณ์ของตัวเองได้ในช่วงเวลาที่มีความกดดัน หายอารมณ์เสียง่าย รู้จักจัดการสมดุลระหว่างความรู้สึกดีของตัวเองกับของคนอื่น
  • ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนอย่างรวดเร็ว และสามารถรับมือกับความต้องการหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน
  • การมุ่งสู่ความสำเร็จ (Achievement orientation) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่มีความพยายามที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เพื่อไปสู่ความสำเร็จ รู้จักยอมรับความคิดเห็นที่ได้จากการทำงาน รวมถึงพยายามหาทางที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ
  • มองโลกในมุมบวก (Positive outlook) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่มองเห็นสิ่งดีๆ ทั้งในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงตัวคนอื่นด้วย ซึ่งการมองโลกในมุมบวกถือว่ามีความสำคัญเพราะจะช่วยให้คุณค้นพบโอกาสใหม่ๆ ได้

การตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness)

เป็นความสามารถในการรับรู้ อ่าน และตีความอารมณ์ของบุคคลอื่น ส่วนใหญ่จะอาศัยท่าทางภายนอกเป็นจุดสังเกตที่ทำให้รับรู้และตีความอารมณ์ของคนอื่นๆ ได้ ซึ่งความสามารถนี้จะช่วยให้คุณสามารถสื่อสาร และรับฟังคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะย่อยๆ ดังนี้

  • ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่ให้ความสนใจกับบุคคลอื่น ใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจว่าคนอื่นๆ พูดเรื่องอะไร และรู้สึกอย่างไร รวมถึงพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่ เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริง
  • ความตระหนักรู้ในองค์กร (Organizational awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้ หรืออ่านอารมณ์ของคนในองค์กร หรือกลุ่มคนได้ บางครั้งอาจหมายถึงความสามารถในการคาดเดาการตอบสนองต่อสถานการณ์ของคน บริษัท หรือธุรกิจที่คุณกำลังคุยด้วยในขณะนั้น ทำให้สามารถวางแผนในสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีกลยุทธ์ได้
ภาพจาก Unsplash โดย Campaign Creators

การจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management)

เป็นความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคคลรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยสร้างการกระตุ้น แรงบันดาลใจระหว่างการสนทนา และทำให้การสนทนาเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญเอาไว้ให้ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะย่อยๆ ดังนี้

  • การชักจูง (Influence) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ สามารถรวบรวมความช่วยเหลือของคนอื่นๆ ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาได้ รวมถึงการสร้างกลุ่มที่มีปฎิสัมพันธ์กัน และเตรียมพร้อมที่จะทำงานต่างๆ
  • การให้คำแนะนำ (Coach and mentor) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่ชอบให้คำแนะนำและการสนับสนุนกับคนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานต่อคนอื่นๆ
  • การจัดการกับความขัดแย้ง (Conflict management) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี รับมือกับความกดดันจากทั้งสองด้าน รวมถึงหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกๆ ฝ่าย
  • การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่สามารถสื่อสาร และทำงานกับคนอื่นๆ ภายในทีมได้เป็นอย่างดี มีความกระตือรือร้น ช่วยแสดงความรับผิดชอบในการทำงาน ร่วมลงแรงทำงานในฐานะที่เป็นทีมเดียวกัน
  • สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น (Inspirational leadership) เป็นลักษณะนิสัยของคนที่สร้างแรงบันดาลใจ และให้คำแนะนำเพื่อทำให้คนอื่นก้าวไปสู่เป้าหมาย รวมถึงดึงความสามารถของคนในทีมออกมาได้มากที่สุด

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา