กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนเปิดเผยข้อมูลอัตราประชากรปี 2020 พบว่า มีคนเกิดราว 10.03 ล้านคน มีอัตราลดลง 14.9% เทียบกับปีก่อนหน้ามีประชากรเกิด 11.79 ล้านคน ถือว่าเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่จีนสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949
ประเด็นเรื่องอัตราประชากรจีนมีการเกิดน้อยลงกำลังสร้างปัญหาให้จีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากแรงงานในวัยทำงานเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า หากแนวโน้มประชากรเกิดน้อยลงต่อเนื่อง จีนอาจเข้าสู่ภาวะแก่ก่อนรวย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในจีนมีมากถึง 250 ล้านคน คิดเป็น 18% ของอัตราจำนวนประชากร
เรื่องอัตราประชากรนี้ Stuart Gietel-Basten ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์และนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง ระบุว่า ปี 2020 มีอัตราการเกิดลดลงในหลายประเทศทั่วโลก สืบเนื่องมาจากโควิด-19 ระบาด
ปัญหาอัตราการเกิดต่ำลงมีผลมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับให้แต่ละครอบครัวต้องมีลูกคนเดียวเป็นนโยบายที่ใช้มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1979-2015 ผู้หญิงนับล้านคนต้องถูกทำโทษหรือครอบครัวจะต้องถูกปรับอย่างหนักเป็นการบังคับให้ต้องจัดการตัวเองถ้าพบว่ากำลังจะมีลูกคนที่สอง
เมื่อเทียบจำนวนของผู้คนที่อายุเกิน 65 ปีมีอัตราเพิ่มขึ้น 3.36% ในปี 1965 เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ในปี 2015 ซึ่งในที่สุดแล้วปีเดียวกันนี้จีนก็ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปีเดียวกันนี้และปล่อยให้มีลูกสองคนได้ โดยในปี 2019 จีนมีคนสูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปีอยู่ที่ 12.6% จากจำนวนประชากรโดยรวม
การที่จีนปล่อยให้คนมีลูกสองคนได้ในปี 2015 สืบเนื่องไปปี 2016 ถือว่าเป็นนโยบายที่ช้าเกินไป เทรนด์ร่วมกันจากหลายประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนนิยมมีลูกน้อยลง ในปี 2050 จำนวนประชากรราว 1 ใน 3 หรือประมาณ 480 ล้านคนในจีนจะมีอายุมากกว่า 60 ปี
จำนวนการแต่งงานนับตั้งแต่ปี 2013-2019 ลดลงอย่างมากครั้งแรกในจีนอยู่ที่ 41% เปลี่ยนจาก 23.8 ล้านคนเป็น 13.9 ล้าน นโยบายลูกคนเดียวส่งผลให้คนแต่งงานน้อยลงด้วย เรื่องการแต่งงานนี้ Wei-Jun Jean Yeung นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้ที่ศึกษาเรื่องการแต่งงานและครอบครัวสังคมในเอเชียระบุว่า การที่ผู้หญิงมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาคู่สมรสในด้านเศรษฐกิจเหมือนเช่นในอดีต ผู้หญิงในโลกปัจจุบันต้องการพัฒนาตัวเองและอาชีพของพวกเธอเองก่อนที่เข้าสู่การแต่งงาน
นอกจากนี้ วิถีเพศที่มีทิศทางแบบชายเป็นใหญ่ยังคงเป็นเช่นเดิม ในจีน ผู้คนจำนวนมากและบรรดาพ่อแม่ของคู่สมรสยังต้องการและคาดหวังให้ผู้หญิงแบกรับภาระในการเลี้ยงดูลูกและงานบ้านหลังแต่งงานแม้ว่าพวกเธอจะมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว การเพิ่มผลิตภาพผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา การปฏิรูประบบบำนาญ ระบบสาธารณสุขคือสิ่งที่จีนต้องเร่งลงทุนเพื่อที่จะบรรเทาปัญหาในอนาคตได้
ที่มา – CNN
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา