พฤติกรรมแย่ๆ ของลูกค้าสิ้นคิด กำลังบ่อนทำลายอาหารญี่ปุ่นสไตล์สายพานซูชิ

พฤติกรรมแย่ๆ ของลูกค้าสิ้นคิด กำลังบ่อนทำลายอาหารญี่ปุ่นสไตล์สายพานซูชิ

หลังจากไวรัลคลิป กรณีลูกค้าวัยรุ่นญี่ปุ่นหยิบซอสบนสายพานซูชิมาเลีย และใช้นิ้วป้ายน้ำลายตัวเองไว้บนซูชิที่กำลังเลื่อนไปบนสายพาน นอกจากทำให้คออาหารญี่ปุ่นรู้สึกไม่สบายใจกับพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ยังรู้สึกระแวงด้วยว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่อมั้ย ต้องบอกว่า เป็นพฤติกรรมสิ้นคิด โง่เขลาอย่างมาก

Sushi
Photo by Kyle Head on Unsplash

โดยเฉพาะในยุคที่โลกเพิ่งผ่านสถานการณ์โควิดระบาดมาได้ไม่เท่าไร เราต่างก็รู้กันดีว่าการแพร่ระบาดของไวรัส เชื้อโรคบนโลกมันง่ายดายขนาดไหน การกระทำของวัยรุ่นรายนี้ได้ทำลายความเชื่อใจของลูกค้าสายพานซูชิได้มาก เพราะการทานอาหารซูชิสายพาน ต้องมีความเชื่อใจ ไว้ใจกัน

นอกจากเราจะต้องไว้ใจเชฟที่ทำอาหาร คนที่เตรียมวัตถุดิบและภาชนะในการเสิร์ฟอาหารแล้ว เราต้องไว้ใจคนในสังคมเดียวกันที่ไปร่วมทานอาหารร้านเดียวกันด้วย เพราะอาหารที่เราไม่ได้หยิบจากสายพานกำลังส่งต่อไปยังคนอื่น แล้วเราจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนสิ้นคิดแบบนี้ปะปนในร้านอาหารที่เราไปทานอีก?

ล่าสุด Nikkei รายงานว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจสายพานซูชิจึงต้องยกระดับในการมอนิเตอร์หรือตรวจสอบสินค้าของตัวเอง เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เริ่มจาก Kura Sushi ได้ใช้ AI เข้ามาช่วยจัดการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่ในสายพานซูชิไว้แล้ว เพื่อตรวจจับตาสถานการณ์ที่ผิดปกติ เช่นการเปิดหรือปิดถ้วยอาหารซูชิที่อยู่บนสายพาน

ทาง Kura Sushi มีกล้องติดตั้งอยู่แล้ว แต่มีไว้เพื่อนับจำนวนจานที่ลูกค้าทาน และใช้ข้อมูลเพื่อคำนวณและปรับกลยุทธ์ในการจัดเตรียมอาหารให้ลูกค้า ว่าควรจะจัดอาหารลงบนสายพานซูชิจำนวนเท่าไร ไปจนถึงการคำนวณค่าใช้จ่าย ระบบนี้จะถูกปรับปรุงให้สามารถตรวจจับพฤติกรรมลูกค้าที่น่าสงสัยว่าอาจจะทำเช่นที่เป็นกระแสไวรัลหรือไม่ เพื่อแจ้งเตือนพนักงานให้มาควบคุมด้วย

ตอนนี้วลีที่ว่า การก่อการร้ายผ่านซูชิ หรือ sushi terrorism กำลังเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียหลังมีคลิปดังกล่าวแพร่ออกไป ด้านบริษัท Food & Life ที่ทำแบรนด์ Sushiro สายพานซูชิตัวท็อปของญี่ปุ่นก็เริ่มจำกัดจานซูชิลงบนสายพานชั่วคราว เสิร์ฟเฉพาะซูชิที่มีออเดอร์เท่านั้น รวมทั้งติดตั้งแผ่นอะคริลิคใสระหว่างสายพานกับที่นั่งลูกค้าเพื่อป้องกันสถานการณ์ดังกล่าว

ร้าน Kura Sushi ก่อตั้งมาตั้งแต่พฤษภาคม 1977 ด้วยทุน 2 พันล้านเยน ตุลาคม ปี 2021 มียอดขายรายปีราว 1.47 แสนล้านเยน มีพนักงานราว 2,185 คน มีหน้าร้าน 567 แห่ง ในญี่ปุ่น 495 แห่ง สหรัฐอเมริกา 32 แห่ง ไต้หวัน 40 แห่ง

ขณะที่บริษัท Food & Life บริษัทแม่ของแบรนด์ Suhiro ก่อตั้งในเดือนมีนาคม ปี 2015 ทุน 100 ล้านเยน ยอดขายปี 2022 อยู่ที่ 2.81 แสนล้านเยน มีพนักงานประจำ 6,088 คน มีพนักงานพาร์ทไทม์ 21,961 คน มีหน้าร้าน 1,083 แห่ง

แบ่งเป็น Sushiro ในญี่ปุ่น 644 แห่ง ในต่างประเทศ 87 แห่ง แบรนด์ในประเทศยังมีแบรนด์ Sugidama 67 แห่ง แบรนด์ Kyotaru 157 แห่ง แบรนด์ Kaitensushi Misaki/ Misakumaru 103 แห่ง แบรนด์อื่นๆ อีก 25 แห่ง

การบ่อนทำลายของลูกค้าสิ้นคิด ไม่เพียงทำลายความไว้วางใจในกลุ่มลูกค้าด้วยกัน แต่ถ้ายอดขายตกจนคนขยาดไม่เข้าร้าน จะส่งผลกระทบต่อพนักงานร้านอาหารสายพานซูชิที่เหลือด้วย ร้านอาหารก็กระทบ ซัพพลายเออร์ที่จัดหาอาหารให้ก็กระทบ ห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกระทบหมด เพียงแค่พฤติกรรมสิ้นคิดง่ายๆ แค่นี้เอง

ที่มา – Nikkei, Kurasushi, Food and Life

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา