วิกฤตหางานยุคโควิดของเด็กจบใหม่ เงินก็ไม่มี งานก็อยากทำ แถมยังต้องแข่งกับมืออาชีพ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับหลายๆ อุตสาหกรรม คนทั่วเลิกต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ บริษัทหลายแห่งประสบกับภาวะขาดทุนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

Bangkok COVID-19 Silent
Skywalk กลางเมืองที่เคยเต็มไปด้วยผู้คน ต้องเผชิญกับความว่างเปล่าเพราะโควิด-19 ภาพจาก Shutterstock

จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในช่วงหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ บริษัทหลายแห่งต้องออกมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งการปลดพนักงานบางส่วน การลดเงินเดือนทั้งของพนักงาน หรือแม้แต่ผู้บริหารก็ตาม บางแห่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความมั่นคงสูง ก็ยังได้รับผลกระทบจนต้องปลดพนักงานบางส่วนออกเช่นกัน

ส่วนในประเทศไทยบริษัทต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทที่ทำงานด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เพราะในช่วงนี้การท่องเที่ยวกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เช่นเดิมอีกแล้ว และยังไม่รู้ด้วยว่ากว่าเมื่อไหร่สถานการณ์จะเป็นปกติ จนคนเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้เช่นเดิม

ภาพจาก Shutterstock

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในเดือนมีนาคม 2563 ไทยมีผู้ว่างงานประมาณ 3.92 แสนคน เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีผู้ว่างงานประมาณ 3.46 แสนคน (ดูสถิติฉบับเต็มได้ที่นี่) ตัวเลขผู้ว่างงานนี้แม้จะยังดูเหมือนไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ยังได้คาดการณ์สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยว่า ในปี 2563 นี้จะมีคนว่างงานประมาณ 3-5 ล้านคน ซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก นับเป็นวิกฤตที่มีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของไทย หรือบางคนแม้ไม่ได้ว่างงานก็จริง แต่มีชั่วโมงการทำงานที่ลดลงอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กระทบต่อรายได้ที่ลดลงด้วยเช่นกัน (อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่)

บริษัทใหญ่ปลดคน เป็นโอกาสของบริษัทเล็ก

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดพนักงานออกบางส่วน เพื่อรักษาความอยู่รอดของบริษัทเอาไว้

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทใหญ่ๆ มักสามารถดึงดูดให้คนที่มีความสามารถ คนเก่งๆ ระดับหัวกะทิเข้ามาร่วมงานได้ เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ความมั่นคง สวัสดิการ รวมถึงโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงานก็มากกว่าบริษัทเล็กๆ

ภาพจาก Unsplash โดย Dylan Gillis

ดังนั้นในช่วงนี้บริษัทขนาดกลาง-ขนาดเล็ก สามารถใช้จังหวะที่บริษัทใหญ่ๆ บางบริษัทปลดพนักงานออก ในการจ้างพนักงานเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่มีความสามารถจากบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งแต่เดิมคนเหล่านี้อาจไม่เคยมองบริษัทขนาดกลาง-ขนาดเล็กเป็นตัวเลือกที่จะทำงานด้วยเลย เพราะบางคนอาจไม่อยากมีช่วงเวลาว่างงาน หรือมีภาระที่ต้องรับผิดชอบในชีวิตประจำวันรออยู่ การถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหัน จึงทำให้ไม่มีเวลาเตรียมตัวเพื่อรับกับสถานการณ์

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าพนักงานที่ถูกปลดออกจากบริษัทใหญ่ๆ ในช่วงนี้จะเป็นที่ต้องการของบริษัทขนาดกลาง-ขนาดเล็กไปทั้งหมด เพราะบริษัทขนาดเล็กในช่วงนี้ก็อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน หรือบางบริษัทอาจต้องการจ้างพนักงานเพิ่มก็จริง แต่ต้องจ้างเพิ่มด้วยจำนวนจำกัด

ภาพจาก Unsplash โดย Cole Keister

ความไม่แน่นอนในชีวิตของนักศึกษาจบใหม่

นักศึกษาจบใหม่กลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องพบเจอกับความไม่แน่นอนมากที่สุด เพราะในขณะนี้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็ต่างกำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันไม่แน่นอนกันทั้งนั้น บางส่วนจำเป็นต้องปลดพนักงานออกเพื่อความอยู่รอดของบริษัท

แถมยังมีผู้ว่างงานคนอื่นๆ ที่เพิ่งถูกเลิกจ้างออกจากบริษัทต่างๆ หลายบริษัท คนเหล่านี้ก็กำลังหางานใหม่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งข้อได้เปรียบของคนเหล่านี้คือ ประสบการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่ไม่มี

ประสบการณ์เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ล้วนต้องการจากนักศึกษาจบใหม่ทั้งสิ้น แม้ว่าในบางคณะ หรือบางหลักสูตรจะกำหนดให้มีการฝึกปฎิบัติงานจริงในช่วงปี 3 หรือ ปี 4 แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการฝึกปฎิบัติงานในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่เดือน คงไม่อาจเทียบได้กับประสบการณ์การทำงานนานหลายปีของพนักงานที่เริ่มทำงานไปนานหลายปีแล้ว

ซ้ำร้ายบางคณะ หรือบางหลักสูตรก็ไม่ได้มีการกำหนดให้นักศึกษาต้องฝึกปฎิบัติงานจริงก่อนเรียนจบเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่ทำได้ คือ การใช้ผลการเรียน งานที่เคยทำ และกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมในขณะเรียนที่มหาวิทยาลัยในการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง โดยเฉพาะกับการสมัครงานที่แรก

ที่มา – สำนักงานสถิติฯ , SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา