วิบากกรรมเด็กจบใหม่ยุคนี้ หางานยาก เงินเดือนต่ำ แถมต้องแข่งกับคนรุ่นก่อนที่ตกงาน

คนจบใหม่ในไทยยุคนี้มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะได้ทำงานตรงตามทักษะที่เรียนจบมา 

ปัญญาใหญ่ของเด็กจบใหม่ยุคนี้คือหางานทำยาก เพราะบริษัทส่วนใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมไม่เปิดรับพนักงานใหม่ เป็นผลสืบเนื่องจากพิษโควิดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

Student
Photo: Shutterstock

ปัญหารุมเร้าหลายด้านของคนจบใหม่ยุคนี้

iCIMS บริษัทสรรหาคนสายซอฟต์แวร์ ระบุผลการศึกษาซึ่งพบว่า คนจบใหม่ในสหรัฐอเมริกากำลังประสบกับการหางานที่ยากมากขึ้น โดยคนจบใหม่ยุคนี้ยื่นเอกสารสมัครงานเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10 บริษัท พุ่งขึ้นเป็นเท่าตัวถึง 20 บริษัท (ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่โควิดส่งผลกระทบหนักที่สุด) แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและตัวเลขคนตกงานที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งแตะจุดเกือบ 30 ล้านคน (เป็นตัวเลขตกงานที่หนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา)

นั่นหมายความว่า แม้บรรดาคนจบใหม่จะสมัครงานเยอะแค่ไหน แต่บริษัทก็ไม่มีศักยภาพที่จะเปิดรับตำแหน่งได้มากเท่าที่ต้องการ และที่หนักไปกว่านั้น จำนวนคนตกงานอันมหาศาล ทำให้คนทำงานรุ่นก่อนตกที่นั่งลำบาก สุดท้ายก็ต้องขวนขวาบหาสมัครงานใหม่เช่นเดียวกัน

iCIMS ยังได้เปิดเผยผลสำรวจของอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ลดต่ำลงของบริษัทต่างๆ หลังจากได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด โดยในสหรัฐอเมริกาเงินเดือนเริ่มต้นทั่วไปก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ประมาณ 59,765 ดอลลาร์ต่อปี (1.93 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 1.6 แสนบาทต่อเดือน) แต่ในปัจจุบันพบว่าเงินเดือนเริ่มต้นหล่นมาอยู่ที่ 54,585 ดอลลาร์ต่อปี (1.77 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 1.47 แสนบาทต่อเดือน)

ไม่หมดแค่นั้น ถ้าไปดูเรื่องการฝึกงาน หลายบริษัทก็สั่งเลื่อนการฝึกงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด (ในหลายสายงาน การฝึกงานมีส่วนสำคัญมากต่อการได้งานในอนาคต) งานศึกษาของ National Association of Colleges and Employers พบว่ากว่า 70% ของโปรแกรมฝึกงานตามบริษัทต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาถูกยกเลิกไปอย่างถ้วนหน้า

ในไทยก็หนัก เด็กจบใหม่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะหางานได้ตรงทักษะ

งานวิจัยของฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลุยทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research เปิดเผยว่า ในไทยจะมีการเลิกจ้างงานหรือพักงานโดยไม่มีรายได้ เรียกง่ายๆ คือว่างงาน เพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 13.2% ของตลาดแรงงานไทย

ส่วนนักศึกษาที่กำลังจบใหม่จะตกงาน และต้องทำงานต่ำกว่าความสามารถ

KKP Research คาดว่าในช่วงกลางปีนี้จะมีนักศึกษาจบใหม่ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานราว 340,000 คน แต่ด้วยวิกฤตโควิดจะทำให้ 1 ใน 3 ของบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้ที่สามารถหางานที่เหมาะสมกับระดับทักษะได้ โดยจะเป็นกลุ่มที่ศึกษามาในสายวิชาชีพหรือเทคโนโลยีที่ยังเป็นที่ต้องการในหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสารที่ยังมีการลงทุนต่อเนื่องและได้รับผลกระทบจำกัดจากสถานการณ์โควิด-19

ส่วนบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากอาจจำเป็นต้องเลือกทำงานต่ำกว่าระดับหรือตัดสินใจไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงขาดช่องทางในการเสริมทักษะจากความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นค่าเสียโอกาสสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจต้องอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นเวลานาน

อ้างอิง – KKP Research, CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา