ประเทศนี้เป็นของทหาร เปิดอาณาจักรธุรกิจผูกขาดของกองทัพแห่งชาติเมียนมา

กองทัพเมียนมาก็เหมือนกับอีกหลายกองทัพในโลก ไม่ได้มีแค่อำนาจดิบซึ่งก็คือกฎหมายและกระบอกปืนเท่านั้น แต่ยังมีอาณาจักรธุรกิจที่แทรกซึมเข้าไปในชีวิตความเป็นอยู่คนเมียนมาตั้งแต่ตื่นจนนอน แม้ว่าพวกเขาจะไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา แต่กลับต้องสนับสนุนโดยไม่รู้ตัว หรือถ้ารู้ตัวก็ไม่ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงได้ทุกอย่าง
myanmar govt military business
Brand Inside จะพาไปรู้จักอาณาจักรธุรกิจของกองทัพแห่งชาติเมียนมาตัตมาดอว์ (Tatmadaw) ที่เกิดขึ้นจากการที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพใช้สิทธิพิเศษทางการเมืองแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจผูกขาดธุรกิจในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ 

2 กลุ่มบริษัทยักษ์ ขุมทองของกองทัพเมียนมา

กองทัพเมียนมาผูกขาดเศรษฐกิจผ่านการตั้งกลุ่มบริษัท 2 กลุ่ม คือ Myanmar Economic Holdings Public Company Ltd. (MEHL) และ Myanmar Economic Corp. (MEC) ภายใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหม และมีการแต่งตั้งให้คนในกองทัพเข้าไปเป็นบอร์ดบริหารหรือเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ 

บริษัททั้งสองเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือครองหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธุรกิจอื่นในเมียนมา เป็นเจ้าของธุรกิจและมีบริษัทลูกรวมกว่า 120 บริษัท ส่วนอีก 27 บริษัท เชื่อได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดผ่านโครงสร้างองค์กร 

กองทัพเมียนมาใช้อำนาจทางการเมืองที่มีในมือเพื่อผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ทำให้ธุรกิจหลายแขนงตกอยู่ในมือของนายพลเมียนมา เช่น หยก ที่ MEHL และบริษัทลูกถือครองใบอนุญาตทำเหมืองจำนวนมาก ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ จากข้อมูลของ Global Witness องค์กรพัฒนาเอกชน

ทั้งนี้ ธุรกิจหยกของเมียนมามีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ (9.3 แสนล้านบาท) คิดเป็นครึ่งนึงของ GDP เมียนมา

Myanmar Yangon Shwedagon Pagoda ชเวดากอง พม่า ย่างกุ้ง
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ MEHL และ MEC ยังทำธุรกิจในหลายอย่าง ดังนี้

  • การเกษตร การประมง การป่าไม้
  • การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
  • การไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ
  • การเงินและประกันภัย
  • อัญมณีและเหมืองแร่
  • การท่องเที่ยว
  • ความบันเทิงและนันทนาการ

ธุรกิจที่สำคัญที่สุดคือการทำเหมืองอัญมณี เพราะบริษัทของ MEHL และ MEC กว่า 50% อยู่ในธุรกิจนี้ อัญมณีที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในแผ่นดินเมียนมาจึงตกอยู่ในมือของกองทัพเมียนมาเป็นส่วนใหญ่

หนึ่งวันของคนเมียนมา กับการอุดหนุนธุรกิจทหารอย่างเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจของทหารเมียนมาครอบคลุมแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันหนึ่งวัน ไล่ไปตั้งแต่อาหารเช้าอย่างข้าวและกาแฟ ก็มีธุรกิจอย่างข้าว MEC Myanmar และ Nan Myaing และหากอยากเติมน้ำตาลลงไปในกาแฟด้วยก็ต้องซื้อน้ำตาล Royal Karaweik ทั้งสามอย่างนี้อยู่ในเครือ MEHL และ MEC 

protest Myanmar coup
ภาพจาก Shutterstock

ธุรกิจของทหารเมียนมายังมีทั้งเบียร์ทั้งยี่ห้อ Kirin ที่บริษัทจากญี่ปุ่นเคยร่วมทุนด้วยและเบียร์ Myanmar รวมไปถึงบุหรี่ Red Ruby และ Premium Gold ต่างก็เป็นของกลุ่มทุนทหารทั้งสิ้น

ที่สำคัญ กลุ่มทุนทหารถือครองธนาคารรายใหญ่ของเมียนมาอย่าง ธนาคาร Myawaddy Bank ของ MEHL ที่มีส่วนดูแลกองทุนเพื่อการเกษียณอายุของกองทัพ และยังมีธนาคารรายใหญ่อีกเจ้าอย่าง Inwaa Bank ที่ครอบครองโดย MEC

เห็นได้ชัดเจนว่าธุรกิจของกองทัพเมียนมานั้นอยู่ทุกที่ และนี่คืออำนาจอีกหนึ่งอย่างของรัฐบาลรัฐประหารของเมียนมาที่มีนอกเหนือไปจากกระบอกปืนและอำนาจในการตรากฎหมาย

ประชาชนเมียนมาโต้กลับ ไม่ยอมจำนนกองทัพ

ประชาชนเมียนมาเคลื่อนไหวระดับชาติ ต่อต้านรัฐบาลทหารด้วยการบอยคอตสินค้าจากบริษัทของกองทัพ แถมมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Way Way Nay” ที่เป็นภาษาเมียนมาแปลว่า “ออกห่าง” (สินค้าเหล่านี้) เพื่อให้คนเมียนมาทราบว่าสินค้าตัวไหนเป็นของบริษัทของกองทัพ

แต่การบอยคอตครั้งนี้ รวมถึงมาตรการณ์คว่ำบาตรของโลกตะวันตก ไม่ได้กระทบการเงินของกองทัพมากนักเพราะอาณาจักรธุรกิจเมียนมาครอบงำเศรษฐกิจเมียนมาจนยากจะสั่นคลอน

แต่การบอยคอตเชิงสัญลักษณ์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าคนเมียนมาไม่ได้นิ่งเฉยต่อเผด็จการ

เข้าถึงรายชื่อบริษัทบริษัทย่อยของ MEHL และ MEC เพิ่มเติมได้ที่ รายงาน ของ UN Independent International Fact-Finding Mission on Myanmar 

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน