บริษัทต่างชาติในเมียนมาเริ่มกังวล ทั้งสหรัฐฯ, กลุ่ม G7 และ EU รุมประณามหลังทหารทำรัฐประหาร

บริษัทต่างชาติทั้งสัญชาติญี่ปุ่นและไทยต่างเข้าไปลงทุนในเมียนมานับสิบปีแล้ว แต่การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจของกองทัพ ความเสี่ยงเหล่านี้ประกอบด้วย ความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปอาจนำมาตรการคว่ำบาตรออกมาใช้ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายใต้ระบอบทหารและความไม่แน่นอนทางนโยบาย

protest Myanmar coup
ภาพจาก Shutterstock

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า ไม่กังวลสภาพการค้าชายแดนเท่าไรนัก คาดว่าน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในเมียนมา

จากสถิติอาเซียน ไทยคือคู่ค้าอันดับ 2 ของเมียนมา มีการส่งออก 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐและมีการนำเข้าอยู่ที่ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 ช่วงระหว่างปี 2015-2020 ไทยลงทุนในเมียนมากว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นประเทศที่ลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 6 รองจากจีนและญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นลงทุนในเมียนมากว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากที่นานาประเทศเริ่มคว่ำบาตรเมียนมา ญี่ปุ่นก็ลดการลงทุนในเมียนมามาตั้งแต่ปี 2011 รัฐบาลประเมินว่าชาวญี่ปุ่นน่าจะอาศัยอยู่ในเมียนมาราว 3,500 คน ญี่ปุ่นมีหลายบริษัทที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา มีทั้งซูซูกิ มอเตอร์, โตโยต้า มอเตอร์ที่เริ่มเข้าไปลงทุนเป็นรายแรกๆ นอกจากนี้ เมียนมายังเป็นแหล่งดึงดูดให้หลายประเทศเข้ามาลงทุนทั้งบริษัทไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง มีค่าแรงที่ไม่แพง ทำให้หลายประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีกำลังการผลิตในประเทศตัวเองน้อยเริ่มหันหน้าเข้าหาเมียนมา

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปน่าจะเดินหน้าใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่เห็นด้วยที่มีการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เลิกคว่ำบาตรเมียนมาแล้วหลังจากที่มีการเริ่มปกครองประเทศในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สถานการณ์ล่าสุด ทำให้น่าจะมีการทบทวนมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกลับมาใช้ใหม่ นั่นหมายความว่าความช่วยเหลือต่างๆ ที่มีต่อเมียนมาน่าจะถูกลดทอน ยกเลิกได้

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาติดตามสถานการณ์การยึดอำนาจของทหารเมียนมามาตลอดนับตั้งแต่จับกุมตัวผู้นำ อองซาน ซูจีและการทำรัฐประหาร สหรัฐฯ เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวผู้นำ ผู้สื่อข่าวและหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยทันที สหรัฐฯ ขอให้มีการเลือกตั้งเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยซึ่งประธานาธิบดีไบเดนระบุว่า การยึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพคือการทำลายการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและยังทำหลายหลักนิติธรรมด้วย สหรัฐฯ จะเดินหน้าใช้มาตรการที่เหมาะสมหลังเกิดเหตุรัฐประหาร

ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ในเมียนมาแต่ประเทศผู้นำโลกกลุ่ม G7 ก็ร่วมประณามด้วย (กลุ่ม G7 ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา และผู้แทนระดับสูงจากสหภาพยุโรป) แถลงการณ์จากรัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่ม G7 ร่วมประณามการรัฐประหารในเมียนมา โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำ อองซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์ รวมถึงให้ยุติคำสั่งภาวะฉุกเฉินตลอดจนคืนอำนาจให้กลับรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยเสีย

นอกจากนี้ การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเมียนมายิ่งทำให้เกิดความกังวลต่อพลเรือนทั้งหลายด้วย กลุ่ม G7 ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมาที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในเมียนมาต่อไป

European Union อียู สหภาพยุโรป
ภาพจาก Shutterstock

ด้านสหภาพยุโรปก็ร่วมประณามการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตประชาธิปไตย (NLD) และปล่อยตัวผู้นำพลเมืองคนอื่นๆ ที่กองทัพจับกุมไปด้วย นักวิเคราะห์จาก Asia Plus Securities ระบุว่า การตอบสนองจากชาติตะวันตกหลังทหารยึดอำนาจ สะท้อนให้เห็นว่า มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา

ที่มา – Nikkei Asia, U.S. Department of State (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา