ปัญหาคือค่าโดยสาร? ขนส่งทางรางเผย ผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง-สีม่วงเพิ่ม 4-8% หลังใช้มาตรการค่ารถสูงสุด 20 บาท

วันนี้ (18 ต.ค. 2566) พิเชฐ คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า หลังจาก 16 ต.ค. 2566 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับ 

  1. รถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
  2. สายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของรฟท.
  3. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ทั้งนี้ วันที่ 17 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มมาตรการพบว่ มีประชาชนมาใช้บริการ

  1. รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 27,411 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดง 254 คน-เที่ยว)  ถือว่าเพิ่มขึ้น 8.45% จากค่าเฉลี่ยวันทำงานช่วงวันที่ 2-12 ต.ค. 66
  2. รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวนผู้ใชบริการรวม 73,878 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 4.44%

นอกจากนี้ กรมฯ มองว่า ยังมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 497,319 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5.73% จากค่าเฉลี่ย  เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน 

อย่างไรก็ตาม  กรมการขนส่งทางรางเร่งประสานธนาคารกรุงไทยและผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าโดยสารให้เชื่อมต่อ กันระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงจากปัจจุบันจำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหรือซอฟต์แวร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายภายในเดือน พ.ย. 2566 นี้ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ มองว่า มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ราว 952.23 ล้านบาทต่อปี (เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์, ช่วยลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์, ประหยัดเวลาในการเดินทาง, ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ )

ทั้งนี้ข้อมูลเพิ่มเติมการเดินทางระบบราง ของวันที่ 17 ต.ค. 2566 ทั้งระบบ (ยังรวมถึงผู้โดยสายที่จ่ายเงินเต็มราคา) มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,566,998 คน-เที่ยว ได้แก่

  1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 71,222 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 25,050 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 46,172 คน-เที่ยว 
  2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,495,776 คน-เที่ยว  ประกอบด้วย
  • รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 223 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 8 เที่ยววิ่ง) จำนวน  69,285 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 27,411 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 254 คน-เที่ยว)
  • รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 73,878 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 24 เที่ยววิ่ง) จำนวน 497,319 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 785,605 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 5,240 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 37,038 คน-เที่ยว

ที่มา กระทรวงคมนาคม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา