จริงหรือไม่? ต้องบ้านรวยถึงทำ Startup ได้ แต่สำเร็จไม่สำเร็จก็อีกเรื่อง

กระแส Startup ยังแรงไม่ตกในประเทศไทย และเด็กจบใหม่ทุกคนก็เริ่มไม่อยากนั่งเป็นพนักงานบริษัท แต่ฝันที่จะเป็น Entrepreneur หรือเจ้าของธุรกิจมากกว่า แต่กว่าจะขึ้น Startup แต่ละตัวมันไม่ใช่ง่ายๆ นะ

ภาพ pixabay.com

30,000 ดอลลาร์ กับเงินทุนก้อนแรก

การจะขึ้น Startup แต่ละตัว ไม่ใช่แค่เรียกเพื่อนๆ มารวมหัวคิดกัน แล้วออกมาเป็นผลงานเหมือนนำเสนองานวิจัยในมหาวิทยาลัย แต่ต้องมีเงินทุนในการสร้างธุรกิจด้วย โดย Kauffman Foundation องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจ วิจัยว่า ในการสร้าง Startup ต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านบาท) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายหาก Entrepreneur หน้าใหม่ที่ทางบ้านไม่ได้มีฐานะร่ำรวยนักจะเริ่มธุรกิจ และ Startup ส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็สร้างธุรกิจด้วยเงินเก็บ, หุ้นกับเพื่อน หรือไม่ก็ใช้เงินจากพ่อแม่อยู่แล้ว

ขณะเดียวกันด้วยวัฒนธรรมในปัจจุบันที่สนับสนุนให้นิสิต นักศึกษา หันไปเรียนด้านบริหารธุรกิจกันเยอะขึ้น และส่วนใหญ่ที่จบออกมาก็อยากประกอบธุรกิจส่วนตัวกันทั้งนั้น แต่ถ้าใครมีฐานะทางบ้านที่ดีหน่อยก็คงได้เปรียบ ยิ่งถ้าเป็นที่รู้จักทางสังคม ก็สามารถระดมทุนจากญาติสนิท หรือสังคมธุรกิจของที่บ้านได้ไม่ยาก เท่ากับว่าพวกเขาไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนเลย เพราะเงินที่ได้มานั้นหามาได้โดยง่าย และคงไม่แปลกนักที่ Entrepreneur กลุ่มนี้จะบริหารความเสี่ยง หรือกล้าตัดสินใจในเรื่องหนักๆ ไม่ค่อยเป็น

ภาพ pixabay.com

ยีนบริหารความเสี่ยงคือตัวสำคัญ

Andrew Oswald ศาสตราจารย์ของ University of Warwick มองว่า Entrepreneur ยุคปัจจุบันใช้เงินในการขับเคลื่อนธุรกิจเป็นหลัก ไม่ได้เดินไปตามประสบการณ์ หรือสร้างธุรกิจด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งการทำธุรกิจแบบนี้จะส่งงผลถึงโอกาสผิดพลาดที่สุด เพราะขาดยีนเรื่องบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยลัย Berkley ยังวิจัยพบว่า กลุ่ม Startup รุ่นใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว, เพศชาย และมีการศึกษาที่สูง แต่หากพวกเขาเติบโตมาจากตระกูลที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก โอกาสสำเร็จก็น้อยกว่าคนที่เติบโตมาอย่างราชา

อย่างไรก็ตามต้องย้ำก่อนว่า การเป็น Entrepreneur ไม่ได้มีสูตรตายตัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว Entrepreneur ที่มีประสบการณ์กับความล้มเหลว เช่นได้นักลงุทนที่ไม่ดีนัก ทำให้ธุรกิจไม่เดินหน้า ก็จะมีภูมิคุ้มกัน หรือเรียกว่ายีนพิเศษที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับความเสี่ยง ได้มากกว่าคนที่มีแค่เงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากมองแบบนี้ก็คงคล้ายกับนักธุรกิจในยุคอุตสาหกรรม 1.0 หรือ 2.0 ที่ส่วนใหญ่จะสร้างธุรกิจด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไม่มีมรดกพ่อแม่มาเกี่ยวข้อง ทำให้พวกเขามีความกล้าได้กล้าเสีย และบริหารความเสี่ยงได้จนเลี้ยงธุรกิจให้เติบโตจนมาถึงปัจจุบัน

สรุป

ถ้าสังเกตกันดีๆ Startup ในไทยส่วนใหญ่มีสตางค์กัน และค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงสังคม ดังนั้นโอกาสที่จะระดมทุนเพื่อสร้างธุรกิจ และกลายเป็น Entrepreneur ที่ประสบความสำเร็จก็ง่าย แต่อยากให้ลองศึกษาเจ้าสัวยุคก่อน เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธาน CP และ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของ ThaiBev ว่าการสร้างธุรกิจจากศูนย์เป็นอย่างไรด้วย เพื่อให้รู้ว่าแบมือขอมันง่าย แต่สร้างธุรกิจจริงๆ มันมีอะไรยิ่งกว่านั้น

อ้างอิง // Entrepreneurs don’t have a special gene for risk—they come from families with money

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา