พบหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในไทย เกินครึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน

หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในประเด็นข้อสงสัยประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใช้เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทพ. อนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิวุฒิสภาและรองประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกสามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ประชาชนจะปฏิบัติตามมาตรการรัฐครบถ้วน ทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะอยู่ด้านนอก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่าง จึงมีข้อสังเกตว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไปอาจไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ จึงเสนอไปยัง สอบ. เพื่อให้ทดสอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่ายทั่วท้องตลาด

mask

ดร.ไพบูลย์ ชวงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภคแถลงข่าวว่า การทดสอบครั้งนี้เริ่มจากการสุ่มซื้อตัวอย่างผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วท้องตลาด เก็บข้อมูลระหว่าง 16 สิงหาคม ถึง 3 ตุลาคม 2564 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบเป็นการเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 30 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 60 ยี่ห้อ แบ่งเป็น

  • หน้ากากอนามัยระดับใช้งานทั่วไป 14 ยี่ห้อ
  • หน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไปและหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม 27 ยี่ห้อ
  • หน้ากากกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายจ มาตรฐาน N95 หรือ KN95 จำนวน 19 ยี่ห้อ

เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก ขนาด 0.1 ไมครอนและอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน รวมทั้งทดสอบความสามารถในการซึมผ่านของอากาศหรือการทดสอบด้านการหายใจ

mask

จากผลการทดสอบหน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว แบ่งเป็นประเภทตามมาตรฐาน มอก. 2424-2562

กลุ่มที่ 1 พบว่า ระดับใช้งานทั่วไป กำหนดให้หน้ากากอนามัย มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ค่าผลต่างความดัน ไม่เกิน 4.0 mm H2O/cm2 พบว่า มี 3 ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว คือ ยี่ห้อ LOC, Medicare Plus และ Iris Ohyama ซึ่งยี่ห้อ Iris Ohyama เป็นยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดแต่ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา เนื่องจากมีการโฆษณาว่ามีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค (PFE 99%) แต่ผลทดสอบที่ออกมาของยี่ห้อดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค 0.1 ไมครอน เพียงร้อยละ 97.47

ส่วนยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากอนามัยระดับใช้งานทั่วไป มีจำนวน 11 ยี่ห้อ ได้แก่ 1) Zion, 2) Lepono, 3) Bestsafe, 4) I-Tec, 5) 3M, 6) Asproni, 7) Fidens (กล่องชมพูขาว), 8) Life Mask, 9) Microtex, 10) Lanzhi และ 11) Yamada

ระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) และ ระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) กำหนดให้หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ค่าผลต่างความดันไม่เกิน 5.0 mm H2O/cm2 พบว่า มียี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อ Nam Ah, Double A Care และ TCH

mask

ส่วนยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม มีจำนวน 24 ยี่ห้อ ได้แก่ 1)Next Health, 2) Union Beef, 3) Fidens (กล่องชมพูเข้ม), 4) Live SEF, 5) Welcare, 6) Nice Mask, 7) Topvalue Bestprice, 8) Medimask, 9) Betex, 10) Fresh Plus (กล่องสีฟ้า), 11) เคนโกะ, 12) G lucky, 13) Hyguard, 14) Hi-care, 15) Fresh Plus (กล่องสีเขียว), 16) Fresh Plus (กล่องสีน้ำเงิน), 17) KSG (ซองเขียวเข้ม), 18) KF (ซอง), 19) Miss Med, 20) Exta, 21) KF (กล่อง), 22) Watsons, 23) Nice Mask (กล่องสีเขียวอ่อน) และ 24) Betex

กลุ่มที่ 2 หน้ากากที่ระบุว่าเป็นกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ชนิดกรองอนุภาค ที่ระบุมาตรฐาน N95 หรือ KN 95 ที่มีข้อกำหนดตามมาตรฐาน มอก. 2480 – 2562 กำหนดประสิทธิภาพการกรองอนุภาคไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ผลต่างความดันไม่เกิน 35 mmH2O พบว่า ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์มีจำนวน 7 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อ Minicare, ตรางู, One care, 3M, Welcare Black Edition, Ease mask zero และ Pharmatex

mask

ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ได้แก่ ยี่ห้อ ไคเทคิ การ์ด รุ่นซาวายากะ, Ease Mask Zero (Alco), KSG (ซองเขียวอ่อน), Unicharm, Watsons และ Link care

ยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากที่อยู่ในกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ มีจำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ 1) Cuwin Mask, 2) Cuwin Mask (True Shopping), 3) Mini care, 4) Pharmatex, 5) Nobel mask และ 6) ซีพีทีโคว่า

mask
Photo by Kay Lau on Unsplash
ข้อเสนอที่เป็นมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ สอบ. จัดทำเพื่อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ มีดังนี้
  1. ให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กำหนดให้ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวเป็นมาตรฐานบังคับ และมีบทกำหนดโทษกรณีที่ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืน ละเมิดสิทธิผู้บริโภค
  2. ให้ อย. ดำเนินการเชิงรุกตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทั้งที่ผลิตในไทยและนำเข้า ให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
  3. ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการจัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สำหรับใช้ในโรงพยาบาลรัฐ กำหนดมาตรฐานตาม มอก. 2424-2562 เป็นเงื่อนไขในการกำหนดคุณสมบัติสินค้าในการจัดซื้อจัดจ้าง
  4. ให้เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ มีมาตรการสนับสนุนเสนอการขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะที่ได้รับเครื่องหมาย มอก.
  5. ให้ สคบ. ควบคุมฉลากบรรจุภัณฑ์ หน้ากากอนามัยแบบใช้เครั้งเดียวให้เป็นไปตามเกณฑ์ ข้อกำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามการแบ่งประเภทของชั้นคุณภาพที่มี 3 ระดับคุณภาพ

ที่มา – สบอ.

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา