พาณิชย์ เผยดัชนีค่าครองชีพโลกปี 67 ไทยอยู่อันดับที่ 94 จากทั่วโลก แต่สูงเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง การจัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล่าสุดช่วงต้นปี 2567 ของ Numbeo พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยในช่วงต้นปี 2567 อยู่ที่ 36.0% (เทียบกับดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาที่เท่ากับ 100%) อยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก 

ไทยมีดัชนีค่าครองชีพลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 40.7% (เดิมอันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก) เนื่องจาก 1) ดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ อยู่ที่ 41.0% ลดลงจาก 42.0% ในปีก่อนหน้า เพราะราคาสินค้าที่ลดลง เช่น เนื้อสัตว์, ผัก-ผลไม้ ฯลฯ และ 2) ดัชนีราคาอาหารในร้านอาหาร อยู่ที่ 18.4% ลดลงจาก 21.0% ในปีก่อนหน้า 

ทั้งนี้ ดัชนีค่าครองชีพของไทย สอดคล้องกับดัชนีค่าครองชีพของหลายประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเคลื่อนไหวตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.- ก.พ.) ของปี 2567 ที่ปรับลดลง 0.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 นอกจากนี้มองว่าเพราะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม) และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ

ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ไทยมีดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่นดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ มีรายละเอียดดังนี้ 

  1. สิงคโปร์มีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียนที่ 81.9% (อันดับ 7 ของโลก)
    มีค่าใช้จ่ายรายบุคคลเฉลี่ยอยู่ที่ 1,510.8 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน  (ประมาณ 40,000 บาท) 
  2. บรูไน อยู่ที่ 50.5% (อันดับ 48 ของโลก)
  3. เมียนมา อยู่ที่ 38.6% (อันดับ 87 ของโลก) 
  4. กัมพูชา อยู่ที่ 38.5% (อันดับ 88 ของโลก) 
  5. ไทย อยู่ที่ 36.0% (อันดับ 94 ของโลก)
  6. ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 33.6% (อันดับ 104 ของโลก) 
  7. เวียดนาม อยู่ที่ 30.8% (อันดับ 113 ของโลก) 
  8. มาเลเซีย อยู่ที่ 30.5% (อันดับ 115 ของโลก) 
  9. อินโดนีเซีย อยู่ที่ 28.5% (อันดับ 126 ของโลก) 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ คือ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง นโยบายการผลิตและส่งออกของผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และสถานการณ์ทั่วโลกที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ปี 2567 ของ Numbeo มีรายละเอียด ดังนี้

ประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. เบอร์มิวดา สูงถึง 133.6% ชะลอตัวจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 141.8%
    เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก
  2. สวิตเซอร์แลนด์ สูงถึง 112.2% ชะลอตัวจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 114.2%
    สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน การผลิตเภสัชภัณฑ์ นาฬิกา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีระบบสวัสดิการที่ดี ทัศนียภาพโดดเด่น รวมถึงการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ จึงเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าครองชีพจึงอยู่ในระดับสูง
  3. หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึง 111.7% ชะลอตัวจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 103.4%
    หมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง

ประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. ปากีสถาน อยู่ที่ 18.5% จากปี 2566 ที่อยู่ระดับ18.0%
    ปากีสถานเผชิญปัจจัยท้าทายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งกดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
  2. ไนจีเรีย อยู่ที่ 19.3% ลดลงจากปี 2566 ที่ระดับ 30.9%
    ไนจีเรีย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ COVID-19 การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
  3. ลิเบีย อยู่ที่ 21.2% ลดลงจากปี 2566 ที่ระดับ 24.2%
    ลิเบียมีความเปราะบางทางการเมือง โดยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอซึ่งอาจเป็นผลให้ค่าครองชีพในประเทศอยู่ระดับต่ำ

หมายเหตุ: ดัชนีค่าครองชีพ ของ Numbeo จัดทำโดย คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, เสื้อผ้าและรองเท้า, กีฬาและสันทนาการ, และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ 100%

ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา