นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา ทดลองสังเคราะห์ไม้จากเซลล์ในห้องแล็บ สร้างเฟอร์นิเจอร์ได้ไม่ต้องตัดไม้ ใช้หลักการเดียวกับเนื้อสัตว์ที่สังเคราะห์จากเซลล์ในห้องแล็บ
ที่ผ่านมาเรามักได้ยินกระแสความพยายามในการสร้างเนื้อสัตว์จากเซลล์ภายในห้องแล็บ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์นั้นทั้งตัวจริงๆ เพื่อเป็นการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนในกระบวนการปศุสัตว์
- ครั้งแรกในโลก สิงคโปร์อนุญาตให้ Eat Just ขายเนื้อไก่สังเคราะห์จากเซลล์ในห้องแล็บแล้ว
- เมนูรักโลก KFC ทดลองผลิตนักเก็ตจากการพิมพ์ชีวภาพ สังเคราะห์จากเซลล์ไก่ ช่วยลดโลกร้อน
นักวิจัย MIT ทดลองสังเคราะห์เนื้อไม้จากใบต้นบานชื่น
แต่ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไปไกลกว่าการทดลองสร้างเนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องแล็บ เพราะนักวิจัยได้ทดลองสังเคราะห์ไม้ขึ้นมาจากเซลล์ โดยไม่ต้องปลูกต้นไม้นั้นขึ้นมาจริงๆ ตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยอ้างว่าสามารถสังเคราะห์ไม้ขึ้นมาเป็นรูปทรงใดๆ ก็ได้ ทำให้ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับกระบวนการทำเฟอร์นิเจอร์ หรือการก่อสร้าง ที่จำเป็นต้องมีการตัดไม้ทำลายป่า
ในเอกสารการวิจัย อธิบายถึงหลักการสังเคราะห์ไม้จากเซลล์ว่า ใช้การสังเคราะห์จากเซลล์ของใบต้นบานชื่น (Zinnia Plant) โดยไม่จำเป็นต้องใช้ดิน หรือแสงแดดเหมือนเช่นการปลูกต้นไม้ปกติ Luis Fernando Velásquez-García นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT อธิบาย
สังเคราะห์ไม้เป็นรูปทรงอะไรก็ได้
นอกจากนี้การสังเคราะห์ไม้จากเซลล์ในห้องแล็บ ยังสามารถสังเคราะห์ให้ไม้เป็นรูปทรงอะไรก็ได้ ซึ่งหมายความว่าจะทำให้เกิดวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่างจากไม้ที่ได้จากการตัดต้นไม้ มักมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวๆ ตามธรรมชาติการเติบโตของต้นไม้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องมีการตัดต้นไม่ให้เป็นรูปทรงต่างๆ อยู่ดี ทั้งที่ต้นไม้ที่ปลูกต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี ในการเจริญเติบโต
ซึ่งนักวิจัยได้ให้ไอเดียต่อยอดจากงานวิจัยนี้ว่า สามารถสังเคราะห์ต้นไม้เป็นรูปทรงอะไรก็ได้ เช่น เป็นแผนสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ๆ หรือแม้แต่สังเคราะห์ออกมาเป็นรูปโต๊ะโดยไม่จำเป็นต้องมีการประกอบ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากกระบวนการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีความจำเป็นในการทำอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยืนยันว่าการวิจัยสังเคราะห์ไม้จากเซลล์ในห้องแล็บ ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นการทดลองเท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนให้กับการใช้วัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น แทนที่จะต้องใช้วัสดุพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นวัสดุสังเคราะห์จากธรรมชาติแทน
ที่มา – Fastcompany
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา