เมนูรักโลก KFC ทดลองผลิตนักเก็ตจากการพิมพ์ชีวภาพ สังเคราะห์จากเซลล์ไก่ ช่วยลดโลกร้อน

หนึ่งในต้นตอสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน คือ การทำปศุสัตว์ เพราะทำให้เกิดการปล่อยแก๊สมีเทน ซึ่งทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศของโลก และนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องหาทางแก้ไขให้ได้

ภาพจาก Shutterstock

KFC ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจากประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังทำการทดลองผลิตนักเก็ตไก่โดยใช้กระบวนการการพิมพ์ชีวภาพแบบ 3 มิติ (3D Bioprinting) เพื่อพิมพ์เนื้อไก่ โดยใช้เซลล์จากไก่และพืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งการทดลองครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ “ร้านอาหารแห่งอนาคตของ KFC”

ไก่นักเก็ต KFC จากการพิมพ์ชีวภาพแบบ 3 มิติ

การทดลองผลิตไก่นักเก็ตด้วยกระบวนการพิมพ์ชีวภาพแบบ 3 มิติของ KFC เป็นความร่วมมือกับบริษัท 3D Bioprinting Solutions จากประเทศรัสเซีย โดย KFC จะเปิดเผยข้อมูลของในการทำไก่นักเก็ต เช่น พันธ์ุของไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ไก่นักเก็ตที่ผลิตด้วยกระบวนการพิมพ์ชีวภาพแบบ 3 มิติ มีรสชาติ และรสสัมผัสเหมือนไก่นักเก็ตปกติของ KFC ทุกประการ อย่างไรก็ตามไก่นักเก็ตแบบใหม่นี้ไม่ใช่ไก่นักเก็ตแบบมังสวิรัติ เพราะยังมีส่วนผสมของเนื้อไก่อยู่เช่นเดิม แต่ KFC ก็มีทางเลือกให้กับคนที่กินมังสวิรัติด้วยนักเก็ตที่ทำจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ใน KFC บางสาขาในประเทศสหรัฐอเมริกา

ไก่นักเก็ต KFC ภาพจาก kfc.com

ความพยายามในการผลิตไก่นักเก็ตด้วยกระบวนการพิมพ์ชีวภาพแบบ 3 มิติ สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการใช้เนื้อสัตว์ปกติ จากการศึกษาของวารสารวิชาการ American Environmental Science and Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการสังเคราะห์เนื้อสัตว์จากเซลล์จะช่วยลดปัญหาการเกิดแก๊สเรือนกระจก และลดอัตราการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์แบบปกติ

แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพแบบ 3 มิติในวงการอาหารจะดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ความจริงแล้วในวงการการแพทย์เคยมีการทดลองเพื่อผลิตอวัยวะมานานระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตอวัยวะให้สามารถปลูกถ่ายและใช้งานได้จริงในคน เพราะยังต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

กระบวนการในการผลิตไก่นักเก็ตด้วยการพิมพ์ชีวภาพ 3 มิตินี้ ยังไม่มีรายละเอียดว่า KFC และบริษัท 3D Bioprinting Solutions ทำอย่างไร เพราะการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์มีกระบวนการที่ซับซ้อนมาก ส่วนใครที่คิดว่าอยากลองทานไก่นักเก็ตแบบใหม่ของ KFC ก็ขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในประเทศรัสเซีย คงต้องรอกันอีกนานกว่าจะสามารถผลิตได้จริง

ที่มา – theverge

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา