พาณิชย์ชี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10% ไม่กระทบเงินเฟ้อมากนัก แต่ภาคการผลิต-เกษตร-บริการจะมีต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 0.12 – 7.75%

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อทั่วไปว่า ปัจจุบันในภาพรวมของภาคการผลิตมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมจึงเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก 

Agriculture

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ขณะเดียวกันจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปสู่การสูงขึ้นของภาวะเงินเฟ้อได้

ดังนั้น ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอยู่ระหว่าง 328-354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน ซึ่งถูกกำหนดจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 (มีมติฯ และบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567 ทาง สนค. จึงวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น*ในกรณีว่าหากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ในอัตราระหว่าง 5% (353.85 บาทต่อวัน) และ 10% (370.70 บาทต่อวัน) จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตและบริการในภาพรวม ดังนี้  

ในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากโดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.12 – 7.75% คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสาขาการเกษตร เช่น 

  1. การเพาะปลูกยางพารา 
  2. การเพาะปลูกอ้อย 
  3. การทำสวนมะพร้าว 
  4. การทำไร่ข้าวโพด 
  5. การทำไร่มันสำปะหลัง 
  6. การปลูกพืชผัก 
  7. การทำนา 

ในกลุ่มสาขาบริการ ที่จะได้รับผลกระทบมาก เช่น

  1. การศึกษา
  2. การค้าปลีก
  3. การค้าส่ง
  4. บริการทางการแพทย์
  5. การบริการส่วนบุคคล (การซักรีด การตัดผม เสริมสวย)

ขณะที่ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบน้อย โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.03 – 0.65%

คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างต่ำในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต เช่น

  1. โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 
  2. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  3. การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม 
  4. การผลิตก๊าซธรรมชาติ 
  5. การผลิตยานยนต์ 

อย่างไรก็ตามการปรับค่าจ้างในอัตราข้างต้นจะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.41 – 1.77%

ในด้านผลกระทบต่อเงินเฟ้อ พบว่าจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตและบริการส่งผลต่อสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อในภาพรวมระดับราคาเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.27 – 1.04% สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ

  • กลุ่มอาหารสำเร็จรูป 
  • ข้าว
  • การสื่อสาร
  • ผักสด
  • ผลไม้สด

สาเหตุเพราะทั้ง 5 สินค้าและบริการนี้มีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น ตัวอย่างเช่น

  • กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อยู่ในภาคการผลิตภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม
  • ข้าว อยู่ในภาคการทำนา
  • การสื่อสารอยู่ในภาคการผลิต บริการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสาร
  • ผักสด อยู่ในภาคการผลิตการปลูกพืชผัก

ทั้งนี้ โดยสรุปแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ตั้งแต่ 5 – 10% จึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้

  1. กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5% หรือ 353.85 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.41% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.27% 

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.88% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.52%

2. กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10% หรือ 370.70 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.82% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.55% 

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.77% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.04%

อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านต้นทุนค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดไปยังราคาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยหลาย อาทิ ภาวะการแข่งขันทางการค้า รสนิยมและกำลังซื้อของผู้บริโภคและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป 

“เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการมีวิธีบริหารจัดการในหลายรูปแบบ อาทิ การกำหนดนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการ ผลตอบแทน และโบนัสภายในองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้าง การลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานคน ดังนั้น แม้ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้ แต่การปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างความเป็นธรรมให้ระบบการจ้างงาน และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป” นายพูนพงษ์ กล่าว

หมายเหตุ

*ในบทวิเคราะห์ของ สนค. นี้ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน

ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา