Microsoft ประเทศไทย เผยผลสำรวจกลุ่มผู้ใช้ AI ระดับสูง หรือ Power User มีแนวโน้มใช้ AI รูปแบบ หรือวิธีการใหม่เพียง 45% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 68% พร้อมกระตุ้นทุกองค์กรเร่งอบรมทีมงานก่อนตกขบวนการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีรอบที่ 4 ชี้เทรนด์นำ AI ของตัวเองมาใช้ หรือ BYOAI คืออีกความเสี่ยงขององค์กร
Microsoft ชี้คนไทยประยุกต์ AI ยังไม่พอ
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า จากรายงาน Work Trend Index 2024 ที่ Microsoft และ LinkedIn ทำการสำรวจพนักงาน และผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น ได้คำตอบในทิศทางการหันไปใช้งาน AI ในองค์กรที่มากขึ้น
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจำนวนผู้ใช้ AI ระดับสูง หรือ Power User ในองค์กรที่มากขึ้น โดยพนักงาน 86% ของกลุ่มนี้เริ่ม และจบวันทำงานด้วย AI แต่พวกเขากลับมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%
“หนึ่งในเหตุผลที่เป็นอย่างนั้นเพราะในไทยมีแค่ 28% ของ Power User ที่ได้รับข้อมูล หรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ AI จากแผนก หรือฝ่ายที่ทำงานอยู่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 40% ทั้งมีแค่ 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสในการอบรมด้าน AI เพิ่มเติม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 42%”
กระตุ้นองค์กรเร่งอบรมการใช้งาน AI
ปัญหาดังกล่าวสวนทางกับพนักงานคนไทย 92% เริ่มนำ AI มาใช้ในการทำงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยหนึ่งในเหตุผลที่มีการนำ AI มาใช้ 68% ได้ตอบว่า ต้องเผชิญกับการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา AI จึงเป็นตัวช่วยในการประหยัดเวลา และสามารถนำเวลาที่เหลือไปใช้กับเนื้องานอื่น ๆ ที่มีความสำคัญได้มากขึ้น
ควบคู่กับฝั่งผู้บริหารในไทยที่เริ่มให้ความสำคัญ AI ผ่าน 91% ที่มองว่าเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% แต่พวกเขายังไม่สามารถประเมินผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้งาน AI ออกมาเป็นตัวเงินได้
“ตอนนี้เรากำลังอยู่กับเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลกในระยะที่ 4 กล่าวคือ ระยะแรกเป็นเมนเฟรม และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จากนั้นขยับมาเป็นอินเทอร์เน็ต ต่อด้วยโทรศัพท์มือถือ และ AI คือระยะที่ 4 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะการใช้งานเริ่มแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
BYOAI คือความเสี่ยงหากไม่มีมาตรการที่ชัดเจน
ธนวัฒน์ เสริมว่า การใช้งาน AI ในองค์กรส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นในรูปแบบ Bring Your Own AI: BYOAI หรือการนำ AI ส่วนตัวมาใช้งาน ซึ่งผู้ใช้ AI ในไทย 81% ใช้งานในรูปแบบดังกล่าว ถือเป็นอีกความเสี่ยงหากองค์กรไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้งาน ซึ่งส่วนองค์กรใหญ่เป็นแบบนี้
“Microsoft ไม่แนะนำให้นำ AI มาใช้ในองค์กรหากไม่มีนโยบายเกี่ยวกับ AI ที่ชัดเจน” ธนวัฒน์ กล่าว นอกจากนี้ BYOAI อาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จาก AI ไม่เต็มที่ และเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้คล้ายกับนโยบายกำกับดูแลการนำอุปกรณ์ส่วนตัว หรือ BYOD มาใช้ในการทำงาน
รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงผู้บริหารในไทย 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% รวมถึงผู้บริหารไทยกว่า 90% เลือกจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%
แนะ Pre Prompt ด้วย AI ก่อน Prompt จริง
ธนวัฒน์ แนะนำว่า การใช้งาน AI ควรจะ Pre Prompt หรือเตรียมความพร้อมด้วยข้อมูล และรูปแบบคำตอบที่ต้องการให้กับ AI ก่อนที่จะลงมือ Prompt หรือสั่งการ AI เพื่อได้คำตอบในสิ่งที่ต้องการ โดยวิธีที่จะ Pre Prompt ให้มีประสิทธิภาพที่สุดคือ Pre Prompt ด้วย AI เอง
ปัจจุบัน Microsoft มีการทำตลาด AI ภายใต้ชื่อ Copilot โดยเปิดให้ใช้งานฟรีกับบุคคลทั่วไป และหากต้องการประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสามารถจ่ายเงินเพื่อใช้งาน Copilot Pro ได้ ส่วนในองค์กร Microsoft มีการทำตลาด AI กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อแนะนำการประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขันขององค์กรได้ดีขึ้น
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า คนทำงานในประเทศไทยไม่เพียงมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองให้ตามทันกระแส AI แต่ยังพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงาน แม้ทักษะความเชี่ยวชาญด้าน AI จะเป็นที่ต้องการของตลาด ถึงขนาดอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น Content Creator ยังต้องระบุความเชี่ยวชาญเรื่องนี้บน LinkedIn
อ่านเพิ่มเติม: 2 วันติด! รัฐบาลไทย เจรจาหัวเว่ยลงทุนดิจิทัล ชวนไมโครซอฟท์ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคในไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา