จิตใจที่แข็งแกร่ง คือทักษะสำคัญของคนยุคนี้: เพราะโลกมันโหดร้าย ยิ่งเปราะบาง ยิ่งเจ็บปวด

ทักษะสำคัญอันดับ 1 ของโลกยุคนี้คือ “การมีจิตใจที่แข็งแกร่ง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสน และเปราะบาง การมีจิตใจที่แข็งแกร่งคือทักษะสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์

Mental Health

เขาบอกว่า เราไม่ควรประเมินผลกระทบเชิงลบจากคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือหน้าที่การงานของเราต่ำเกินไป เพราะมันทำให้คุณตกอยู่ในวังวนแห่งความตกต่ำจนยากจะถอนตัวออกมาได้ ผลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์แย่ๆ อารมณ์แย่ๆ และข้อมูล หรือฟีดแบคเชิงลบเหล่านี้ทำให้เราจดจำมากกว่าอารมณ์เชิงบวกถึง 4 เท่า

Scott Mautz ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Mentally Strong Leader ให้คำแนะนำไว้ว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ทำให้เราอ่อนแอมากขึ้น แต่การหลีกเลี่ยงคำพูดเหล่านั้นต่างหากที่ทำให้เราแย่ลง เขาแนะนำแนวทาง 4 เรื่องในการเรียนรู้ที่จะจัดการรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ไว้ ดังนี้

เรื่องแรก ตัดสินใจให้ดีว่าใครควรจะวิพากษ์วิจารณ์คุณได้บ้าง?

ไม่ใช่ทุกคนที่ควรจะได้รับบทบาทนี้

หัวหน้าของคุณ หัวหน้าของหัวหน้าคุณ หรือคู่ชีวิตของคุณควรจะได้รับบทบาทที่จะนำเสนอฟีดแบคให้กับคุณ มากกว่าจะฟังฟีดแบคจากญาติหรือลูกพี่ลูกน้องของคุณที่มักจะพบเจอกันในวันรวมญาติ แต่ไม่ได้มีประสบการณ์ในสายงานของคุณเลย

สิ่งสำคัญก็คือ พิจารณาให้ดีว่าใครคือคนที่คุณควรจะรับฟังฟีดแบคอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตคุณจะให้ความเห็นอะไรกับคุณก็ได้

เรื่องที่ 2 จงจัดการกับปฏิกิริยาแรกของคุณหลังรับฟังฟีดแบคให้ดี

นี่ไม่ใช่เรื่องการกดข่มอารมณ์ความรู้สึก แต่มันคือเรื่องของการจัดการความรู้สึก

เขาบอกว่ามันยากมากที่คุณจะจัดการความรู้สึกตัวเองได้ เพราะหลายครั้งการวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำให้เราเจ็บปวด ความเป็นจริงจากงานวิจัยทางประสาทวิทยา (Neuroscience) ก็พบว่า สมองจะจดจำการปฏิเสธในรูปแบบเดียวกับความเจ็บปวดทางร่างกาย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณรู้สึกจุก เหมือนถูกชกเข้าที่ท้องเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์

เขาบอกว่าเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำพูดที่คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ตัวคุณเองได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะจัดการอารมณ์ความรู้สึกหลังได้รับรู้ฟีดแบคนั้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องทำตามความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเสมอไป ควรให้เวลาพิจารณาความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเพื่อไม่ปล่อยให้อารมณ์ควบคุมตัวคุณ

เรื่องที่ 3 จงจัดการคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น

จงจัดการคำวิพากษ์วิจารณ์โดยยึดหลักว่า เจตนาจากคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเพื่อต้องการจะช่วยผลักดันให้คุณประสบความสำเร็จหรือพัฒนาให้คุณไปสู่เวอร์ชันที่ดีกว่าเก่า

เขาเสนอแนวคิดมา 2 แบบ แบบแรกก็คือ ถูกตัดสินดีกว่าถูกเพิกเฉย แน่นอนว่าคุณอาจจะรู้สึกไม่ยุติธรรมเท่าไรที่จะถูกตัดสินจากคนอื่น แต่การถูกตัดสินก็เพราะมันมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ถูกตัดสินมากกว่าจะถูกเพิกเฉยไปเลย

แบบที่สองก็คือ หาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่หาการยอมรับ หมายความว่า ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยหรือคิดแบบเดียวกันกับคุณว่าสิ่งที่คุณทำนั้นถูกต้อง ถ้าบุคคลอื่นต้องการให้ฟีดแบคที่น่าจะทำให้คุณพัฒนาขึ้น ดีขึ้น และคุณต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้นเช่นกัน ก็สามารถทำงานร่วมกันเพื่อทำให้มันสำเร็จได้

เรื่องที่ 4 เก็บเกี่ยวเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์

คุณไม่จำเป็นต้องเก็บรายละเอียดคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่าง ทุกจุดมาใส่ใจ แต่คุณสามารถรับฟังและกลั่นกรองได้ จงโฟกัสกับสิ่งที่มีประโยชน์และสิ่งที่ทำให้คุณน่าจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมน่าจะดีต่อตัวคุณมากกว่า

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา