ผลสำรวจพบ คนไทยป่วยด้านจิตเวชเป็นโรคซึมเศร้า อันดับ 1 ตามด้วยวิตกกังวลและเครียด

ย้อนดูผลสำรวจจาก BMHH (โรงพยาบาลเอกชนด้านจิตเวช Bangkok Mental Health Hospital: BMHH) หลัง BMHH ให้บริการมาแล้วกว่า 3 เดือน ผลลัพธ์ดังนี้ 

คนที่เข้ารักษากว่า 70%

  • เป็นโรคซึมเศร้า
  • เป็นโรควิตกกังวล
  • เป็นโรคเครียด

Depression


โดยช่วงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25-40 ปี สอดรับกับเทรนด์ด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดย พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช (BMHH) ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล BMHH ซึ่งเปิดเมื่อสิงหาคม-พฤศจิกายน ระยะเวลากว่า 3 เดือน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวนกว่า 1,000 ราย

พบว่า อันดับ 1 โรคทางจิตเวชที่เข้ารับการรักษา คือโรคซึมเศร้า อันดับ 2 คือโรควิตกกังวล อันดับ 3 คือผู้ที่มีความเครียดสูงและต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเรื่องการทำงาน

ส่วนอันดับ 4 และ 5 คือโรคแพนิคและโรคไบโพลาร์

นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยที่รับการรักษาอยู่ที่ 25-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เริ่มวางแผนชีวิตจริงจัง มีความคาดหวังในการแต่งงาน มีลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างมาก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความเครียด ความกดดัน มีการแข่งขัน และมีความคาดหวังสูง

ปัจจุบัน จะพบลักษณะของผู้รับบริการที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน, โรคทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล แพนิค, ภาวะการปรับตัวผิดปกติ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ

ยังพบว่าผู้ที่มารับบริการในปัจจุบันเพิ่มเติม คือ กลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค แต่ต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ได้แก่ ผู้ที่มีความเครียด มีความไม่สบายใจ แก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติ

พญ. ปวีณา ระบุว่า อาการป่วยของผู้ป่วยด้านจิตเวชเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า พบว่าเกิดจากสารเคมีในสมองที่มีความไม่สมดุล ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้าผิดปกติ การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันมียาชนิดใหม่ๆ มากขึ้น ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยด้วย

แนวทางของ BMHH นั้นมีการวางแผนเฉพาะบุคคลร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลเฉพาะทางและเภสัชกร โดยผู้รับบริการจะได้รับการประเมินและทำแบบทดสอบเบื้องต้นจากพยาบาล จากนั้นจิตแพทย์จะวินิจฉัยจากการสอบถามข้อมูลต่างๆ จากผู้ป่วยหรือญาติ ร่วมกับแบบประเมิน แบบทดสอบต่างๆ และวางแผนรักษา ขณะที่นักจิตวิทยาคลินิกจะช่วยในการทำจิตบำบัดหรือพฤติกรรมบำบัด และทีมเภสัชกรจะดูแลเรื่องการรับประทานยา ผลข้างเคียงการใช้ยา กรณีมีโรคประจำตัว เภสัชกรจะคัดกรองยาที่ห้ามรับประทานร่วมกัน เป็นต้น

โรคทางจิตเวชนั้นเป็นโรคที่รักษาได้ เป็นโรคของความรู้สึก พฤติกรรม ความคิด แตกต่างจากโรคทางกายทั่วไป ต้องสังเกตให้ลึกซึ้ง มองหาต้นเหตุของการป่วยว่ามีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น สิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่เป็นอย่างไร มีพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำ และส่งผลดีต่อตัวเองหรือไม่ การวินิจฉัยและการรักษาต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง นอกจากทานยาแล้วอาจต้องปรับความคิด ปรับพฤติกรรมบางอย่าง ไม่ใช่แค่พบจิตแพทย์ทานยาแล้วจบ ต้องดูแลชีวิตต่อว่าเขาจะอยู่ต่ออย่างไร ใช้ชีวิตในสังคมได้หรือไม่ ญาติพี่น้องมีความเข้าใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้แค่ไหน

ต้องหมั่นสำรวจและทำความเข้าใจอารมณ์ตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง บริหารจัดการอารมณ์ ความเครียด หากต้องการความช่วยเหลือ ควรรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อขอคำแนะนำ ไม่ให้เกิดความเครียดสะสมจนกระทบต่อร่างกายและจิตใจ

ที่มา – BMHH

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา