กรณีศึกษา ทำไมสื่อนอกหลายรายเลิกสนใจ Facebook แต่หันไปบุก YouTube แทน

วิดีโอคือหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ Facebook กำลังปั้น แต่ดูเหมือนว่า สื่อนอกเมื่อต้องการขยายแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะวิดีโอ กลับไม่ได้สนใจ Facebook สักเท่าไหร่ เพราะหลายรายยังเน้นไปที่ YouTube มากกว่า

เมื่อ Facebook ไม่ใช่ตัวเลือกแรกอีกต่อไป

หลังการปรับ News Feed ครั้งใหญ่ของ Facebook เมื่อต้นปี หนึ่งในสิ่งที่ Facebook จะให้ความสำคัญคือ Watch แพลตฟอร์มวิดีโอของทางค่าย

Brand Inside เคยเขียนบทความวิเคราะห์ถึงการแข่งขันในสมรภูมิแพลตฟอร์มวิดีโอระหว่าง Facebook และ YouTube โดยฟันธงไว้ว่า ในปี 2018 นี้ Facebook ในนามของ Watch จะรุกหนักในตลาดวิดีโอมากขึ้น แต่จนถึงวันนี้ ต้องบอกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังหาโมเดลที่ลงตัวไม่ได้ เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่จากสื่อตะวันตกคือปัญหาเรื่องการทำรายได้ที่ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น Tastemade เพจทำอาหารชื่อดังที่ส่งซีรีส์ Feral Cook ลงสู่แพลตฟอร์ม Watch ของ Facebook ในสหราชอาณาจักร แต่ก็ประสบปัญหาเงินส่วนแบ่งจากโฆษณาไม่เพียงพอต่อการผลิตคอนเทนต์

อย่างไรก็ตาม ในห้วงยามที่ Facebook ยังหาจุดลงตัวไม่ได้สำหรับการแข่งขันบนแพลตฟอร์มวิดีโอ ดูเหมือนว่าบริษัทสื่อในตะวันตกหลายราย เมื่อต้องการขยับขยายช่องทางการสื่อสาร กลับไม่ได้เลือก Facebook ไว้เป็นเบอร์ 1 อย่างที่หลายคนคิด และเมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ Digiday ได้เขียนบทความโดยตั้งคำถามไว้ว่า ทำไมบริษัทสื่อถึงย้ายความสนใจจาก Facebook ไป YouTube แทน

  • เราลองมาอ่านเหตุผล ผ่านกรณีศึกษาด้านล่างนี้ดู

เหตุผลที่ 1 : Facebook ไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับคนรุ่นใหม่ อายุน้อย

รู้หรือไม่ว่า House of Highlights สื่อสายกีฬาที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นบน Instagram เมื่อต้องการขยับขยายช่องทางการสื่อสารกลับเลือก YouTube และไม่สนใจ Facebook

หนึ่งในเหตุผลของ Doug Bernstein กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ให้ไว้คือ “ฐานผู้ชมหลักของเราคือคนที่มีอายุ 12-24 ปี และ Facebook ไม่ใช่พื้นที่ศูนย์รวมของฐานผู้ชมเราเลย” 

เมื่อตรวจสอบข้อมูล ก็พบว่าจริง เพราะ Facebook เริ่มไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับคนรุ่นใหม่อายุน้อยอีกต่อไปแล้ว ลองไปดูผลการศึกษาของ eMarket บริษัทวิเคราะห์การตลาดที่ได้ทำการคาดการณ์ไว้ว่า ในปีนี้ผู้ใช้งานที่มีอายุน้อยจะลดลงอย่างมากบน Facebook

  • ผู้ใช้งานอายุ 11 ปี บน Facebook จะลดลง 9.3%
  • ผู้ใช้งานอายุ 12-17 ปี บน Facebook จะลดลง 5.6%
  • ผู้ใช้งานอายุ 18-24 ปี บน Facebook จะลดลง 5.8%

หากคิดเป็นตัวเลข เท่ากับว่า Facebook จะสูญเสียผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 24 ปี เป็นจำนวนถึง 2 ล้านรายในปี 2018

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกของสื่อสายกีฬาอย่าง House of Highlights ที่เน้นการทำวิดีโอจึงไม่ใช่การกระโดดเข้าไปเล่นบน Facebook แต่ได้เข้าไปจับมือกับนักกีฬาดังมีชื่อเสียง และพันธมิตรในการสร้างช่องบน YouTube

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Kevin Durant นักกีฬาบาสเก็ตบอลที่เพิ่งเปลี่ยนทีมเมื่อปีที่แล้ว ต้องการหาช่องทางในการสื่อสารกับฐานแฟนคลับ ก็ได้ไปร่วมมือกับสื่อสายกีฬาอย่าง Thirty Five Media เปิดช่องบน YouTube ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 6 แสนคน และมีคนดูวิดีโอแล้วกว่า 21 ล้านครั้ง

เหตุผลที่ 2 : เรื่องเงินๆ ทองๆ

การทิ้งระเบิดลูกใหญ่ของ Facebook ตอนต้นปี ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของผู้ผลิตคอนเทนต์ ประกอบกับถ้าพูดถึงเรื่องแพลตฟอร์มวิดีโอ ก็ต้องยอมรับว่า โมเดลการทำเงินผ่าน Watch ของ Facebook ก็ยังไม่ชัดเจนนัก

ในขณะที่ YouTube อยู่ในวงการวิดีโอมานานกว่า แถมยังมีโมเดลการทำเงินที่ชัดเจน เช่น สื่อหรือคนทำคอนเทนต์บน YouTube ทราบดีว่าสามารถขายสินค้าได้โดยตรง (direct-sell) ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง แต่กลับกันโมเดลการทำเงินของ Facebook Watch เป็นการได้เงินส่วนแบ่งจากโฆษณาคั่นกลาง (mid-roll ads) ซึ่งที่แน่ๆ คือโมเดลนี้ทำเงินได้น้อยเกินไป เพราะต้องแบ่งกับ Facebook อีกต่อหนึ่ง ไม่สามารถขายโฆษณาโดยตรงได้

เหตุผลที่ 3 : YouTube คือแพลตฟอร์มที่คาดเดาได้ และยั่งยืนกว่า

Mike Rothman ซีอีโอของ Fatherly สื่อสายไลฟ์สไตล์ บอกว่า แพลตฟอร์มอย่าง Facebook มีคนใช้งานเยอะก็จริง แต่ทุกคนไม่ได้เข้าไปเพื่อตั้งใจที่จะดูคอนเทนต์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ต่างกันกับ YouTube ที่ทุกคนเมื่อเข้ามาบนแพลตฟอร์มนี้ จะตระหนักรู้ดีว่า เข้ามาเพื่อเสพคอนเทนต์ประเภทใด

ส่วน Bernstein ที่ทำสื่อสายกีฬาก็พูดทำนองเดียวกันว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่คาดเดาได้ และยังเหมาะกับคอนเทนต์ที่ต้องดูและต้องชมนานๆ ส่วน Facebook หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ คุณก็แค่เลื่อนหน้าจอผ่านมาเจอ แล้วก็รับชมคอนเทนต์แต่ละอันเท่านั้นเอง

สรุป

3 เหตุผลนี้เป็นเพียงการสรุปมาให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้นว่า ทำไมสื่อนอกหลายรายถึงสนใจ YouTube มากกว่า Facebook เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ยังมีอีกหลายเหตุผลและเงื่อนไข เช่น หากคุณผลิตคอนเทนต์ที่ไม่มีวิดีโอเป็นส่วนหนึ่ง แน่นอนว่า YouTube คงจะไม่ตอบโจทย์ใดๆ เลย

แต่สิ่งที่น่าสนใจและต้องติดตามต่อคือ แม้ Facebook จะเคยบอกไว้หลายครั้งว่า “วิดีโอคืออนาคต” แต่ดูเหมือนว่า จนถึงวันนี้ Facebook Watch ยังมีการบ้านให้ต้องทำอีกเยอะ เพราะการเดินหน้าโครงการแพลตฟอร์มวิดีโอของ Facebook ยังถือว่าเป็นรอง YouTube ที่เป็นเจ้าผู้ครองตลาดวิดีโออยู่ไม่น้อย

อ้างอิงข้อมูล – Digiday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา