McKinsey คาดการณ์ตลาดแฟชัน 2021: แบรนด์ไหนอยากอยู่รอดต้องลงมาเล่นตลาดจีนและเอเชีย

McKinsey สำนักวิจัยด้านการตลาดชื่อดัง คาดการณ์ตลาดธุรกิจสินค้าแฟชันในปี 2021 ว่าจีน และเอเชีย จะยังคงเป็นทางรอดของแบรนด์แฟชันเพราะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต สวนทางกับตลาดอื่นๆ ในโลกที่ยังคงหดตัว

แบรนด์แฟชัน
ร้านค้าแบรนด์เนมในฮ่องกง ภาพจาก Shutterstock

ปี 2020 ปีแห่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจทุกประเภท รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับแฟชัน และเครื่องแต่งกายที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะอัตรากำไรที่ McKinsey คาดว่าจะลดลง 93% เมื่อเทียบกับปี 2019 หน้าร้านของแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 20,000-25,000 แห่ง คาดว่าจะต้องปิดตัวลงภายในปี 2020 นี้ มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2019 ถึง 2 เท่า

ยอดขายของตลาดธุรกิจแฟชันในปี 2021 คาดการณ์ว่าจะลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2019 และตลาดคงยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่จนกว่าจะถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 และหากสถานการณ์โควิด-19 ยังควบคุมไม่ได้ กว่าธุรกิจแฟชันจะฟื้นตัวก็คงต้องใช้เวลาจนถึงสิ้นปี 2023

แบรนด์แฟชันที่อยู่รอดในปี 2021 คือแบรนด์ที่เน้นตลาดเอเชีย-จีน

อย่างไรก็ตามธุรกิจแฟชันที่ยังคงอยู่รอดได้ในปี 2021 กลายเป็นแบรนด์แฟชันหรู ร้านค้าออนไลน์ ร้านที่ขายสินค้าลดราคา และผู้ผลิตแฟชันกีฬา โดยเฉพาะแบรนด์แฟชันที่มียอดขายสินค้าในตลาดเอเชียสูง โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ตลาดสินค้าแฟชันเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2021 ยอดขายสินค้าแฟชันในประเทศจีนจะเติบโต 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2019

ยุโรป อเมริกา ตลาดแฟชันยังไม่เติบโต

ตลาดแฟชันยุโรป ยังคงได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป จนทำให้ยอดขายในปี 2021 ลดลง 2-7% เมื่อเทียบกับปี 2019 ในขณะที่ตลาดแฟชันสหรัฐอเมริกาก็ยังคาดการณ์ว่าจะมียอดขายลดลงในปี 2021 7-12% เมื่อเทียบกับปี 2019 เช่นกัน

แบรนด์แฟชันต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้

นอกจากนี้ McKinsey ยังพบด้วยว่า นอกจากแบรนด์แฟชันที่มีผลประกอบการดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จะเน้นตลาดในทวีปเอเชีย ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีกว่าตลาดในทวีปอื่นๆ แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านทาง E-Commerce ซึ่งผู้บริหารแบรนด์แฟชัน 22% มองว่า ดิจิทัล จะกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดสำคัญในปี 2021

โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบของหน้าร้าน ที่เพิ่มการใช้ข้อมูล และนำข้อมูลนั้นมาให้บริการที่แตกต่างกันสำหรับลูกค้าแต่ละคน (Personalize) เช่น แบรนด์รองเท้ากีฬา ใช้แอปพลิเคชันการสแกนร่างกายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้แก่ลูกค้า ส่วนแบรนด์แฟชันในประเทศจีนพยายามเข้าถึงลูกค้าผ่านทาง Social Media ด้วยประสบการณ์ที่สร้างขึ้นสำหรับลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น

ลดสี ลดตัวเลือกสินค้า อีกหนึ่งทางรอดของแบรนด์แฟชัน

เมื่ออนาคตของตลาดธุรกิจแฟชันในปี 2021 ไม่สดใส และไม่แน่นอน แบรนด์ต่างๆ ก็จำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการปรับลดความหลากหลายของสินค้าที่มีให้ผู้บริโภคเลือก ทั้งที่ก่อนหน้านี้การมีตัวเลือกจำนวนมากให้แก่ผู้บริโภคเป็นกระแสของธุรกิจแฟชันมานานหลายปี เช่น ตัวเลือกของรุ่น และสีของสินค้า

แต่ในปี 2021 McKinsey คาดการณ์ว่าแบรนด์แฟชันมีแนวโน้มที่จะลดตัวเลือกที่มีให้ผู้บริโภคลง เพราะตัวเลือกของสินค้าที่มาก หมายถึงความยุ่งยากในการจัดการกับ Supply Chain โดยผู้บริหารกว่า 61% วางแผนที่จะลดตัวเลือกของสินค้าลง โดยจะเลือกทำเฉพาะสินค้าที่มีกำไรเท่านั้น

นอกจากการลดสี ลดตัวเลือกของสินค้าให้มีจำนวนน้อยลงแล้ว อีกหนึ่งทางรอดของแบรนด์แฟชันที่ McKinsey พูดถึงคือ “การควบรวมกิจการ” โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2021 ที่หลายๆ แบรนด์เห็นโอกาสในการควบรวมกิจการแบรนด์แฟชันอื่นๆ เพราะมูลค่าของกิจการที่ลดลง และโอกาสในการเข้าไปในตลาดที่ยังมีการเติบโตสูง

ที่มา – McKinsey, Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา