ปัจจุบันหลายองค์กรระดับโลกให้ความสำคัญกับ Maternity Leave หรือ ลาคลอด มากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยตามกระแสดังกล่าวด้วยการเพิ่มวันลาคลอดให้ข้าราชการหญิงจาก 90 วัน เป็นรวม 188 วัน และยังได้เงินเดือน
ลาคลอด นานขึ้น พัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ (มาตรการสนับสนุนสตรีฯ) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ประกอบด้วยมาตรการย่อย จำนวน 3 มาตรการคือ
- จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์เด็กเล็ก/สถานรับเลี้ยงเด็ก ให้รับอายุ 0 – 3 ปี และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน ตามบริบทของพื้นที่
- ส่งเสริมการลาของสามีเพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด (Paternity Leave) โดยปรับแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ) โดยให้ข้าราชการชายสามารถลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร จากเดิม ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ เป็น ให้ลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา
- ขยายวันลาคลอดของแม่โดยได้รับค่าจ้าง (Maternity Leave with Pay) โดยแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยแก้ไขวันลาคลอดบุตรของข้าราชการ จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และเสนอประเด็นแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยให้ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้ว 98 วัน สามารถลาได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือน ร้อยละ 50 ของเงินเดือนปกติ
ทั้งนี้จากข้อมูลสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ผู้หญิงมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้ชาย [ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย (ผู้ชาย 20.56 ล้านคน ผู้หญิง 17.36 ล้านคน) ทั้งแรงงานในระบบ (ผู้ชาย 9.35 ล้านคน ผู้หญิง 8.20 ล้านคน) และแรงงานนอกระบบ (ผู้ชาย 11.20 ล้านคน ผู้หญิง 9.16 ล้านคน)]
และผู้หญิงมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่าผู้ชาย ถึงแม้ว่าสัดส่วนประชากรผู้หญิงจะมีมากกว่าประชากรผู้ชายก็ตาม เนื่องจากผู้หญิงถูกกำหนดให้มีบทบาทเป็นผู้รับภาระทำงานบ้านและงานนอกบ้าน ส่งผลให้ผู้หญิงขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง และต้องใช้เวลาการทำงานส่วนหนึ่งไปกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
ทำให้ถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย อีกทั้งตลาดแรงงานยังเห็นว่าการตั้งครรภ์ของผู้หญิงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่สถานประกอบการ โดย พม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาในรายละเอียด และนำความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ปัจจุบันมีองค์กรในต่างประเทศ และไทยให้ผู้หญิงลาคลอดได้นานขึ้น รวมถึงให้ฝ่ายชายลาไปดูแลภรรยา เช่น บริษัทยา โนวาร์ตีส ประเทศไทย ให้พนักงานชายลาหยุดดูแลภรรยาได้ 98 วัน พร้อมได้เงินเดือน หรือ Volvo ให้สิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานที่มีครอบครัว โดยให้ลาไปเลี้ยงลูกได้ 24 สัปดาห์ ครอบคลุมทุกเพศ และการรับเลี้ยง
อ้างอิง // รัฐบาลไทย
อ่านข่าวเกี่ยวกับการลาคลอด และลาเลี้ยงบุตรเพิ่มเติมได้ที่นี่
- Volvo ให้พนักงานลาไปเลี้ยงลูกได้ครึ่งปี ได้เงินเดือนเหมือนเดิม ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- บริษัทยาโนวาร์ตีส ประเทศไทย ประกาศให้สิทธิ์พนักงานชายลาคลอด หยุดดูแลภรรยาได้นาน 98 วัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา