ติดตามผลสำรวจส่งท้ายวัน Valentine’s Day คู่รักชอบประสบการณ์พิเศษ หรือ ของขวัญเซอร์ไพรส์?

ปิดท้ายวันแห่งความรัก ด้วยผลสำรวจ “ดัชนีความรักของมาสเตอร์การ์ด หรือ Mastercard Love Index” จัดทำขึ้นทุกปี เพื่อวิเคราะห์ธุรกรรมการเงินบัตรเครดิต เดบิต และพรีเพดในช่วงวันวาเลนไทน์ตลอดสามปีที่ผ่านมา (11-14 กุมภาพันธ์ 2558-2560) เผยให้เห็นว่าสุดยอดของวิธีโปรยเสน่ห์คือ ความรื่นรมย์ผ่านมื้ออาหาร

และในปีที่ผ่านมา (2560) ผู้คนนิยมพาคนรักของตนออกมาดินเนอร์ในช่วงวาเลนไทน์ คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดถึง 40% เมื่อดูจากยอดการใช้จ่าย หรือ 75% เมื่อดูจากจำนวนธุรกรรม

การพาคนรักท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์น่าประทับใจ (ด้วยเครื่องบินหรือรถไฟ) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2560 มีจำนวนธุรกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นถึง 23% คิดเป็น 22% ของยอดการใช้จ่ายรวมทั้งหมด ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนบรรยากาศด้วยห้องพักในโรงแรมยังได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอด้วยสัดส่วน 27% ของยอดการใช้จ่าย

ข้อมูลนี้สนับสนุนแนวคิด “เศรษฐกิจแห่งประสบการณ์” หรือ experience economy ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ความสุขนั้นแท้จริงแล้วได้มาจากการสั่งสมประสบการณ์ที่จะประทับใจไม่รู้ลืม (หรืออย่างน้อยก็ควรค่าพอสำหรับการแชร์ในโลกโซเชียล) ไม่ใช่การสะสมสิ่งของ

ในทางกลับกัน มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญวันวาเลนไทน์แบบเดิมๆ เช่น ดอกไม้ ลดลงราว 3% แม้ว่าจำนวนของธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นราว 14% แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าดอกไม้จะยังคงเป็นตัวแทนสื่อรักที่ดี แต่กุหลาบเพียงดอกเดียวกลับมีความหมายมากกว่าการมอบช่อดอกไม้ เช่นเดียวกับการมอบเครื่องประดับและอัญมณี ที่มีมูลค่าลดลง 9% แต่กลับมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นราว 10% (เมื่อเทียบกับปี 2558)

คำถามก็คือ เมื่อเป็นเรื่องของหัวใจแล้ว เราเป็นนักช็อปจอมวางแผน หรือเป็นแบบตัดสินใจซื้อฉับพลัน ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่วางแผนซื้อของขวัญล่วงหน้า และจะไม่รอจนนาทีสุดท้าย คู่รักวาเลนไทน์ส่วนมาก (30%) จะซื้อของขวัญเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ (คิดเป็นจำนวนธุรกรรม 48.8 ล้านครั้งทั่วโลกตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตาม จำนวนธุรกรรมกว่าหนึ่งในสี่ (27%) ของทั้งหมด (ในช่วงสามวัน ตั้งแต่ 11-14 กุมภาพันธ์) เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์นั่นเอง

แนวโน้มในการจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนธุรกรรมผ่านอีคอมเมิร์ซเปรียบเทียบระหว่างวันวาเลนไทน์ปี 2560 เพิ่มสูงจากของปี 2558 ถึง 136%

รูปแบบการใช้จ่ายที่สำคัญในเอเชียแปซิฟิกในช่วงวันวาเลนไทน์ ปี 2558 – 2560

  • การใช้จ่ายเงินในเรื่อง “ทางใจ” เพิ่มขึ้นราว 22% นับจากปี 2558 โดยมีจำนวนธุรกรรมรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นราว 74%
  • จำนวนของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 30%
  • ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จักวางแผนล่วงหน้า โดยส่วนใหญ่ (28%) จะซื้อของสำหรับวันวาเลนไทน์ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ (เป็นจำนวน 4.6 ล้านธุรกรรม)
  • จำนวนธุรกรรมด้านการเดินทางท่องเที่ยว (ด้วยเครื่องบินและ/หรือรถไฟ) เพิ่มขึ้นราว 17% ในปี 2560 คิดเป็น 21% ของมูลค่ารวมทั้งหมดในช่วงวันวาเลนไทน์
  • การใช้จ่ายในเรื่องดอกไม้เพิ่มขึ้นราว 39% เมื่อเทียบกับปี 2558 และจำนวนของธุรกรรมได้เพิ่มขึ้นราว 61% มูลค่าการใช้จ่ายในเรื่องเครื่องประดับและอัญมณีโดยรวมเพิ่มขึ้นราว 21% โดยมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นราว 58% เมื่อเทียบกับปี 2558

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา