รัฐบาลจีนโดยกระทรวงพาณิชย์เตรียมสร้างระบบให้ค้าปลีกทั่วประเทศรายงานว่ามีการใช้พลาสติกไปในจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในจีน
นอกจากนี้ การที่บริการประเภท food delivery เติบโตขึ้น ก็ทำให้มีการใช้พลาสติกในจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ได้มีการสั่งแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและภาชนะเครื่องครัวที่ทำจากพลาสติกในหลายเมืองใหญ่ การแบนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปีนี้ ขณะเดียวกัน การใช้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็จะถูกแบนทั่วประเทศด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ในเรื่องการจัดการขยะนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน มีการเรียกอัตราค่าปรับเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า สำหรับคนที่ไม่ทำตามกฎนี้ ซึ่ง Wang Wang ประธาน China Scrap Plastic Association กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอรส์ว่าการแบนดังกล่าวน่าจะแก้ปัญหาในด้านการลดมลพิษจากพลาสติกที่มองเห็นได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่พยายามกำจัดของเสีย
เดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนก็ออกแผนโรดแมป 5 ปีสำหรับการกำจัดขยะด้วย นโยบายดังกล่าวต้องการให้ทั่วประเทศแบนการใช้ถุงพลาสติกในปี 2022 มีการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลง 30% ในร้านอาหาร ซึ่งจีนก็ประสบปัญหากับการจัดการของเสียหรือขยะที่เกิดขึ้นจากประชาชนราว 1.4 พันล้านคน จีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแต่ยังเป็นประเทศที่ทิ้งขยะรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย
ก่อนหน้านี้ ปลายปี 2019 มีการรายงานถึงสถานที่ฝังกลบขยะขนาดใหญ่ที่สุดของจีนที่ชื่อว่า Jiangcungou (เจียงซุนโกว) มีขนาดราวสนามฟุตบอล 100 แห่ง ก่อสร้างขึ้นในปี 1994 ถูกออกแบบไว้ให้ทิ้งขยะได้ยาวนาน 50 ปี หรือยาวไปจนถึงปี 2044 สามารถรองรับขยะของพลเมืองจีนได้กว่า 8 ล้านคน ขนาดกว้างราว 700,000 ตารางเมตร ลึกราว 150 เมตร และยังบรรจุได้กว่า 34 ล้านตารางเมตร
สถานที่ฝังกลบขยะ Jiangcungou ถูกอออกแบบมาให้ทิ้งขยะได้ 2,500 ตันต่อวัน แต่ในความเป็นจริงกลับมีการทิ้งขยะมากถึง 10,000 ตันต่อวัน ทำให้สถานที่ฝังกลบขยะที่คาดว่าจะรองรับได้ราว 50 ปีถูกขยะทับถมเร็วกว่าที่คาด เร็วไปกว่า 25 ปี สถานที่ฝังกลบแห่งนี้ก็ขยะเต็มเสียแล้ว
ทั้งนี้ China National Resources Recycling Association ระบุว่า ปี 2019 ประเทศจีนผลิตพลาสติกราว 63 ล้านตัน และมีการรีไซเคิลราว 30% และผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สามารถเสื่อมสลายได้ตามธรรมชาติราว 20 ล้านตันซึ่งรวมถุงพลาสติกสำหรับชอปปิงด้วยอีกราว 3 ล้านตัน
ที่มา – BBC (1), (2), Daily Mail
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา