ประวัติย่อและสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับชายวัย 60 ปี ซีอีโอของ SoftBank และนักธุรกิจผู้ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นขณะนี้ แท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของชีวิตไม่ได้สวยหรูปูพรมแดง แต่มาจากน้ำพักน้ำแรงและวิสัยทัศน์อันกว้างไกล
พ่อมดนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่น
ชื่อของ Masayoshi Son อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในกระแสวงกว้างเท่ากับชื่อของมหาเศรษฐีคนอื่นๆ แต่ถ้าพูดกันในวงการนักลงทุน แทบทุกคนน่าจะต้องรู้จัก ซีอีโอของ SoftBank คนนี้ พ่อมดนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่นและผู้ไม่เคยกลัวการลงทุนนอกธุรกิจหลัก (Core Business) ถึงขั้นกับมีการพูดกันในกลุ่มนักลงทุนว่า ถ้า SoftBank ขยับตัวไปลงทุนอะไร ก็ให้ลงทุนตาม
ล่าสุด SoftBank เพิ่งไปลงทุนใน Uber สตาร์ทอัพยูนิคอร์น(ที่เคยเป็น)เบอร์ 1 ของโลก ด้วยการเข้าซื้อหุ้นกว่า 17.5% การลงทุนในธุรกิจนอกสายของ Son ที่น่าจับตามองยังมีที่น่าสนใจ อย่างเช่น การจับมือกับอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง Alibaba และ Aldebaran บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่เน้นพัฒนาด้านหุ่นยนต์ หรืออย่างการเข้าลงทุนด้าน Mobile Payment ในอินเดียผ่านการลงทุนใน Paytm กว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้เขาได้ตั้ง กองทุน Vision Fund ที่ระดมเงินทุนได้ถึงหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์ ขึ้นแท่นกองทุนสายเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยกองทุนนี้จะเอาไว้ลงทุนในธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับ IoT, AI, หุ่นยนต์, โครงสร้างพื้นฐาน, โทรคมนาคม, เทคโนโลยีชีวภาพ, Fintech และ Mobile Application ทั้งหลาย และยังตั้งเป้าจะขยายกองทุนเพิ่มอีก 10 เท่าตัว
- ประวัติการทำธุรกิจที่โชกโชน การลงทุนที่หลากหลาย และรุ่งโรจน์ของ Son ผ่าน SoftBank ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่รู้หรือไม่ว่า พ่อมดนักลงทุนคนนี้ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง
เปิดประวัติซีอีโอ SoftBank : จาก ไม่มีอะไร ถึง นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น
Masayoshi Son เกิดในปี ค.ศ. 1957 หรือ พ.ศ. 2500 จากเชื้อสายของพ่อแม่ชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่แถบตอนใต้ของเกาะคิวชู ครอบครัวของ Son ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ ค่อนข้างลำบาก ในด้านสังคมด้วยความที่ครอบครัวเป็นคนเกาหลีที่อาศัยในญี่ปุ่นยุคนั้น จึงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Son บอกว่า “ตอนเด็กๆ ผมนั่งในรถเข็น โดยมีคุณย่าเป็นคนเข็นออกไป เพื่อเก็บเศษอาหารเหลือของเพื่อนบ้าน แล้วเอามาให้เป็นอาหารกับสัตว์ที่เลี้ยง มันแย่มาก พวกเราทำงานกันหนักมาก”
พออายุได้ 16 ปี Son เดินทางไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาที่ University of California ใน Berkeley โดยเป็นครั้งแรกที่เขาได้เริ่มทำธุรกิจขึ้น และนำไปสู่ความสำเร็จครั้งแรก ด้วยการสร้างระบบคอมพิวเตอร์แปลภาษาอังกฤษเป็นญี่ปุ่น สุดท้ายเขาได้ขายให้ Sharp และได้เงินมา 1 ล้านดอลลาร์
ต่อมาในปี 1981 หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกา เขาได้ก่อตั้งบริษัท SoftBank ขึ้นในฐานะผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์และทำนิตยสารด้านคอมพิวเตอร์
จนกระทั่งปี 1994 บริษัท SoftBank ได้ออกสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ ด้วยกลยุทธ์ที่ประกาศก้องว่าจะเน้นเชิงรุกเพื่อ take over ธุรกิจทั้งในและนอกญี่ปุ่น
ในช่วงปี 1990 จนถึงปี 2009 เป็นช่วงที่ SoftBank บุกหนัก โดยได้เข้าซื้อ Ziff-Davis Communications สื่อนิตยสารอเมริกันสายคอมพิวเตอร์ รวมถึง PC Magazine, ผู้ผลิตชิป Kingston, ธุรกิจจัดงานประชุม Interface and Comdex รวมถึงสายกีฬาอย่าง Fukuoka-based Hawks ก็เข้าซื้อ จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น Fukuoka SoftBank Hawks นอกจากนั้น SoftBank ยังเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน Yahoo และต้องให้เครดิตไว้ด้วยว่า SoftBank เป็นบริษัทที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งานในประเทศ
การเกิดขึ้นของ SoftBank ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจ Telco ผู้ครองตลาดในญี่ปุ่นมานานอย่าง NTT DoCoMo และรายย่อยอื่นๆ เพราะเข้ามาเล่นในตลาดอย่างแข็งแกร่ง ส่งบริการที่ถูกกว่า และยังเป็นรายแรกที่นำเอา iPhone เข้ามาในญี่ปุ่นอีกด้วย
David Gibson นักวิเคราะห์จาก Macquarie Bank เคยให้สัมภาษณ์ถึง Son ไว้ว่า “เขาเป็นคนที่มีบุคลิกแปลกๆ เขามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่านักลงทุนคนอื่นๆ”
- อ้างอิงจาก Forbes ระบุว่า Son เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นโดยมีทรัพย์สินทั้งหมดประมาณ 2.22 หมื่นล้านดอลลาร์
ส่วนที่น่าจับตามองต่อไปคือ
- Son มีความสัมพันธ์อันดีกับ โดนัล ทรัมป์ เพราะหลังจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในปลายปี 2016 เขาคือนักธุรกิจคนแรกที่ได้เข้าพบอย่างไม่เป็นทางการ และยังได้ประกาศลงทุนในสหรัฐอเมริกาถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมจะสร้างงานให้คนอเมริกันอีก 50,000 ตำแหน่ง
- Son ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับ Mohammed bin Salman มกุฎราชกุมาร แห่งซาอุฯ โดยหลังจากที่ซาอุฯ กำลังปั้นเมืองใหม่ NEOM ด้วยเงินลงทุนกว่า 17 ล้านล้านบาท Son ในนามของ SoftBank Group ก็ได้วางแผนที่จะลงทุนในซาอุดิอาระเบียมูลค่าเฉียด 8.2 แสนล้านบาทในช่วง 3 – 5 ปีจากนี้
อ้างอิง – Japantoday
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา