เทรนด์รักสุขภาพยังโต แต่ตลาดน้ำผลไม้กลับหดตัว ทำ “มาลี” ปรับสู่คนขายอาหารสุขภาพ-เดินหน้ารุกอาเซียน

กระแสรักสุขภาพยังคงฮิตติดลมบน เพราะผู้บริโภคต่างก็อยากสุขภาพดีไปนานๆ ซึ่งจริงๆ แล้วกาารดื่มน้ำผลไม้ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ แต่เมื่อเจาะดูตัวเลขตลาดรวม 14,000 ล้านบาทในไทยกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะพอผ่านไปครึ่งปีก็ลดลง 7%

การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่คือหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของมาลี

เศรษฐกิจแย่ ให้สุขภาพดีตลอดคงไม่ไหว

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น กระแสสุขภาพยังเป็นตัวแปรสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในตอนนี้ แต่ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้เงิน และถึงอยากสุขภาพดีก็คงต้องเลือกอาหาร หรือบริการที่ตรงใจที่สุด ซึ่งนั่นไม่ใช่กับสินค้าเครื่องดื่มแน่ๆ เพราะภาพรวมตลาดเครื่องดื่มนั้นลดลงทุกตัว ยกเว้นน้ำเปล่า กับชาชงที่ยังเติบโตได้อยู่

รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.มาลี กรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า เมื่อตลาดยังเป็นแบบนี้อยู่ การจะมุ่งทำตลาดน้ำผลไม้ภายใต้แบรนด์ “มาลี” อย่างเดียวก็คงไม่ได้ ทำให้ทางแบรนด์ตัดสินใจเกาะเทรนด์สุขภาพด้วยการทำตลาดสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มสุขภาพมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างความหลากหลายให้กับสินค้า

รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.มาลี กรุ๊ป

“ตอนนี้ตลาดรวมมันติดลบ ดังนั้นการทำตลาดของเราก็ต้องเปลี่ยนไป การจะทุ่มเงินหลายร้อยล้านเพื่อให้ได้ยอดขายกลับมาคงไม่ใช่อีกแล้ว ตอนนี้ต้องทุ่มให้น้อย แต่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และการสร้างแบรนด์อย่างเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน ทุกอย่างต้องทำแล้วได้ยอดขายกลับมาให้ชัดเจนที่สุด ดังนั้นปีนี้เราจึงลงงบการตลาดราว 60 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นยอดขายน้ำผลไม้ 100%”

ต่างประเทศ-รับผลิต คืออีกคำตอบ

สำหรับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพที่ทำตลาดอยู่ตอนนี้ก็มีเช่นแบรนด์ Malee Nutrient ที่มี 5 รสชาติอาทิ น้ำนมข้าวโอ๊ตผสมน้ำลูกเดือย และน้ำนมข้าวสีนิลผสมงาดำเป็นต้น โดยภายในเดือนนี้จะเห็นการเปิดตัวสินค้าใหม่เพิ่มเติมอีก 2 รสชาติ ส่วนตัวน้ำผลไม้ 100% ก็ยังคงเร่งทำตลาดเพื่อกลับมาเป็นผู้นำในตลาดนี้อีกครั้ง

ในทางกลับกันการรักษาอัตราเติบโตของรายได้เอาไว้ในช่วงที่ตลาดในประเทศหดตัว การเพิ่มดีกรีการทำตลาดในต่างประเทศก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ ซึ่งตอนนี้บริษัทมีการตั้งทีมเฉพาะที่เป็นฝ่ายชัดเจน จากเดิมที่มีทีม Export Sell เท่านั้น โดยปีนี้คาดว่ารายได้จากต่างประเทศน่าจะถึง 43% นอกจากนี้การรับผลิตสินค้าให้กับพาร์ทเนอร์ก็เป็นเรื่องที่จะทำมากขึ้นในปีนี้เช่นกัน

ภาษีน้ำตาลเรื่องใหญ่ แต่ไม่กระทบมาก

ส่วนตัวภาษีน้ำตาลที่ยังรอความชัดเจนในการบังคับใช้นั้น เรียกว่าทาง “มาลี” ก็กระทบเต็มๆ เพราะตัวภาษีจะคิดภาษีเพิ่มตามน้ำตาลที่มีตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งตัวน้ำผลไม้นั้นมีน้ำตาลอยู่แล้ว ทำให้ทางบริษัทจะมีต้นทุนเรื่องนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ด้วยตัวธุรกิจเน้นที่น้ำผลไม้ 100% ซึ่งมีราคาสูง จึงไม่กระทบมาก เนื่องจากตัวภาษีน้ำตาลนั้นคิดจากปริมาณ ไม่ใช่ราคาขาย

สรุป

“มาลี” เป็นแบรนด์ที่ภาพจำเป็นน้ำผลไม้ ดังนั้นการจะ Rebranding ตัวเองเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และเชื่อว่าถ้าจะทำได้เต็มรูปแบบ ก็ต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้แน่นอน มิฉะนั้นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ หรือการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเลยก็คงไม่ง่ายแน่ๆ ยิ่งผลประกอบการของมาลีในตอนนี้ไม่สู้ดีนัก การจะกลับมายิ่งใน และถึงเป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านตามที่ตั้งไว้ก็คงอีกไกล

ทั้งนี้มาลียังตั้งเป้าว่า รายได้ปี 2560 จะเติบโตจากปี 2559 ที่ทำได้ 6,578 ล้านบาทจะเพิ่มขึ้น 5% แม้ครึ่งปีแรกจะพลาดเป้าการเติบโตจนปิดที่ 2,931 ล้านบาท ยังไม่ถึงครึ่งของรายได้ปีที่ผ่านมา แต่เป้าหมายรายได้ในต่างประเทศนั้นเติบโตเป็นเลขสองหลักตลอด และคาดว่าปี 2561 รายได้จากต่างประเทศจะเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้รวม และอีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็น 60% โดยมีตลาดหลักคือประเทศจีน, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา