ผู้ชนะในวันช้อปปิ้ง 11.11 คือ “แบรนด์หรู” ในเมื่อขายตะวันตกไม่ได้ ก็ยกมาขายคนจีนเสียเลย

SHANGHAI, CHINA – DECEMBER 18: (CHINA OUT) Local celebrities attend the opening ceremony of Cartier’s new flagship store on December 18, 2004 in Shanghai, China. Luxury brands like Armani, Louis Vuitton, Christian Dior, Gucci, Cartier, are blossoming in China, with Chinese people’s increasing enthusiasm for famous brands. (Photo by China Photos/Getty Images)

ทางรอดแบรนด์หรูในยุคโควิดคือ “จีน” เพราะตลาดฟื้นตัวไว

ในงานเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ปีนี้ เหล่าบรรดาแบรนด์หรูระดับโลกต่างเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะแบรนด์ที่ไม่เคยมีท่าทีว่าจะเข้าร่วมอย่าง Balenciaga, Prada, Chloe หรือแม้กระทั่งแบรนด์เครื่องเพชรเครื่องประดับหรูหรา

Andy Halliwell นักวิเคราะห์อาวุโสสายการตลาดและที่ปรึกษาด้านดิจิทัลของ Publicis Sapient อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นเพราะแบรนด์หรูเหล่านี้ไม่สามารถทำตลาดในฝั่งตะวันตกได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังไม่ดี สุดท้ายจึงต้องลงมาเล่นในตลาดจีน เพราะจีนฟื้นตัวจากโควิดได้ไว

ก่อนหน้านี้ ปัญหาใหญ่ที่หนักใจเหล่าบรรดาแบรนด์หรูที่ทำให้ไม่อยากเข้าร่วมงานเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 เป็นเพราะ “ไม่อยากลดราคา” เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ในปีนี้แบรนด์หรูหลายแบรนด์ต่างได้เห็นแล้วว่า สินค้าหรูหราเมื่อเข้าร่วมเทศกาลช้อปปิ้งสุดยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องลดราคาสินค้าแบบบ้าคลั่ง ก็ขายได้

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Dior ที่ในปีนี้ขายสินค้าได้มหาศาลโดยไม่ได้ลดราคาอะไรมากมาย มีแค่จัดโปรโมชั่นเล็กน้อยเท่านั้น นี่คือหมุดหมายใหม่ของแบรนด์หรูที่หลังจากนี้ พวกเขาจะรู้แล้วว่า การร่วมงานลักษณะนี้ไม่ต้องลดราคามากก็ยังขายได้ แต่สิ่งที่ได้มากกว่ายอดขายคือการรับรู้ของผู้บริโภคต่อแบรนด์ที่กว้างขวางมากขึ้น เพราะใครจะเชื่อว่าแบรนด์เครื่องประดับสุดหรูอย่าง Cartier จากฝรั่งเศสจะขาย “สร้อยคอ” มูลค่ากว่า 28.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 856 ล้านบาท) โดยมีผู้ชมกว่า 800,000 คนร่วมชมสดๆ ผ่านทางไลฟ์สตรีมมิ่ง

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่ Shirley Li ศาตราจารย์จากคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัย Hong Kong Baptist วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะความรู้สึกกลัวตาย (Fear of death) ซึ่งในสถานการณ์ครั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตโควิด

โดยศาสตราจารย์ท่านนี้ ระบุว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกัน เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความตาย มนุษย์เลือกที่จะทำตามใจหรือสัญชาตญาณ และมักเลือกที่จะพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่ชอบหรือรัก อย่างในกรณีนี้ ก็คือการเลิกกังวลถึงสถานการณ์ที่น่ากลัว(โรคระบาด) แล้วหันกลับมา “ใช้ชีวิตเพื่อปัจจุบัน” ซึ่งหมายถึงการซื้อของที่ชอบ สินค้าที่อยากได้ การช้อปปิ้งของแพงๆ หรือช้อปปิ้งจำนวนมาก ก็เพื่อทำให้ผ่อนคลายความรู้สึกด้านลบนั่นเอง

ที่มา – BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา