แผนใหม่ในการสู้กับ Starbucks ของ Luckin Coffee ในจีนคือการส่ง “เครื่องดื่มชา” มาสู้
กลับสู่รากเหง้า Luckin Coffee ลุย “เครื่องดื่มชา” แยกธุรกิจออกมาสู้
Luckin Coffee คู่แข่งตัวจริงของ Starbucks ในประเทศจีน ประกาศแตกธุรกิจออกจากสายกาแฟเพียวๆ มาทำ “เครื่องดื่มชา” ชื่อว่า Luckin Tea
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ทางแบรนด์ได้ส่งเครื่องดื่มชามาชิมลางในตลาดจีนแล้ว เพียงแต่ว่าแผนใหม่ของ Luckin ในครั้งนี้คือการส่งเครื่องดื่มชาภายใต้แบรนด์ใหม่คือ “Luckin Tea” ที่ split-off การดำเนินงานจากตัว Luckin Coffee เพื่อทำให้มีอิสระในการดำเนินงานและการทำตลาด (แม้กระทั่งแอพพลิเคชั่นที่ใช้ก็จะแยกออกมาด้วย นั่นก็คือแอพพลิเคชั่น Luckin Tea)
สิ่งที่ Luckin Tea จะเน้น คือการเจาะตลาดเมืองรองที่อยู่ในชนบท เพราะคนจีนส่วนใหญ่ในแถบนั้นยังนิยมการดื่มชาเป็นหลัก ต่างกันกับตลาดในเมืองใหญ่ของจีนที่ผู้คนนิยมดื่มกาแฟมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งในส่วนนี้ Luckin Coffee จะลุยทำตลาดในเมืองต่อไป (มีข้อมูลระบุว่า สาขาในเมืองใหญ่ของ Luckin Coffee ก็มีโอกาสที่จะนำเอาเมนูชามาขายร่วมด้วยมากขึ้น)
การลุยตลาดเครื่องดื่มชาของ Luckin Tea ถือเป็นการกลับคืนสู่รากเหง้าที่แท้ของจีนที่นิยมดื่มชามานานกว่าพันปี และถ้าเปิดไปดูข้อมูลของ Meituan-Dianping จะพบว่ามีความสอดคล้องกันมาก เพราะในปี 2018 มีร้านชาเปิดใหม่ทั่วจีนกว่า 74% คิดเป็นจำนวนกว่า 410,000 แห่ง นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจ คือการเติบโตของตลาดเดลิเวอรี่จีนที่เติบโตอย่างมากในตลาดเมืองรองหรือชนบท ซึ่งถ้าเจาะไปดูตัวเลขจะพบว่า “ตลาดเดลิเวอรี่ชา” ในจีนเติบโตถึง 87% ในปีที่ผ่านมา
กลยุทธ์ของ Luckin Tea ในแง่นี้ จึงเป็นทั้งโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ของ Luckin Coffee ในตลาดชนบทที่มีการเติบโตทั้งตลาดเดลิเวอรี่และตลาดชาอย่างสูง และอีกเรื่องคือการขยายความแข็งแกร่งของ Luckin Coffee เพื่อสู้กับ Starbucks ในระยะยาวให้ทั่วประเทศจีน ไม่ใช่แค่เมืองใหญ่ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Luckin Tea จะดำเนินการต่างกับ Luckin Coffee ที่ทางแบรนด์จะเป็นเจ้าของสาขาเอง โดย Luckin Tea จะทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ แบรนด์ไม่ต้องบริหารเองทั้งหมด แม้กำไรจะลดน้อยลงไปบ้าง แต่นี่คือแผนของการขยายสาขาไปให้มากที่สุดซึ่ง Luckin ที่ต้องการในส่วนนี้เป็นอย่างมาก
ในช่วงหลังๆ มานี้ Luckin Coffee ก็เริ่มขายสินค้าต่างๆ ตามคู่แข่งอย่าง Starbucks แล้ว เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ กระเป๋า ฯลฯ เพื่อหารายได้อีกทางด้วย
ที่มา – Nikkei Asian Review, Technode, Weixin
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา