ถึงยุคแอนะล็อกครองเมือง เมื่อแผ่นเสียงทำยอดขายแซงดิจิทัลดาวน์โหลดในสหราชอาณาจักร

ตอนนี้กระแสการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง หรือแผ่น Vinyl หรือจะเป็นแผ่น Long Play (LP) ก็แล้วแต่คนจะเรียก เริ่มได้รับความนิยมอีกครั้ง ถึงขนาดในสหราชอาณาจักรมียอดจำหน่ายสูงกว่ายอดดิจิทัลดาวน์โหลดแล้ว

ภาพ pixabay.com

จากดิจิทัล สู่แอนะล็อกแบบจับต้องได้

เมื่อพูดถึงการฟังเพลง แต่ละคนย่อมมีความชอบที่แตกต่างกัน บ้างรักความสะดวกก็ต้องฟังแบบดิจิทัล เพราะสามารถดาวน์โหลด หรือใช้การสตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์มฟังเพลงต่างๆ ได้ทันที ส่วนฝั่งที่ชื่นชอบความสุนทรีย์ ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ก็คงไม่แปลกนักที่จะเลือกเดินสายแอนะล็อก ผ่านการหาแผ่นเสียงทั้งใหม่ และเก่ามาเล่นบนเครื่อง Turntable พร้อมต่อกับแอมป์หลอดเก๋ๆ ก่อนนั่งฟังผ่านลำโพงคู่ที่มีการปรับแต่งมาเป็นอย่างดี ซึ่งปี 2559 คนในกลุ่มคนสหราชอาณาจักร เริ่มเลือกการรับฟังแบบแอนะล็อกมากกว่า เพราะต้องการความเป็น Tangible Music หรือรับฟังเพลงแบบจับต้องได้อีกครั้ง

ข้อมูลจาก British Phonographic Industry (BPI) รายงานว่า ตลาดแผ่นเสียงในสหราชอาณาจักรเริ่มกลับมาเติบโตพร้อมๆ กับช่วงที่ดิจิทัลดาวน์โหลดเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2550 ผ่านยอดขายในปีนั้นที่ 2 แสนแผ่น แต่พอผ่านไป 9 ปี ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 ล้านแผ่น เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 53% และเป็นปีที่จำหน่ายได้มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 ที่สำคัญยังมียอดขายแซงมูลค่าการดาวน์โหลดเพลงถูกกฎหมายมารับฟังผ่านอุปกรณ์ต่างๆ  อีกด้วย โดยอัลบั้มที่จำหน่ายดีที่สุดคือ Black Star ของ David Bowie ศิลปินที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อกลางปี 2559

ภาพ pixabay.com

ปรากฎการณ์ศิลปินดังเสียชีวิตดึงยอด

อย่างไรก็ตามในปี 2559 ถือเป็นอีกปีแห่งการสูญเสียศิลปินระดับโลกจำนวนมาก หากไล่เรียงก็จะมี David Bowie, Glenn Frey (หนึ่งในผู้ก่อตั้งวง The Eagles), Maurice White (หนึ่งในผู้ก่อตั้งวง Earth, Wind & Fire), Prince, John Berry (หนึ่งในผู้ก่อตั้งวง Beastie Boys) และล่าสุดคือ George Michael ซึ่งเหตุนี้เองทำให้ยอดขายแผ่นเสียงกลับมาพุ่งกระฉูด เพราะใครๆ ก็อยากเก็บสะสม รวมถึงได้เสพเสียงเพลงในรูปแอนะล็อก โดยอัลบั้มที่จำหน่ายดีที่สุดในปี 2559 คือ Black Star ของ David Bowie และมีอีก 30 อัลบั้มที่มียอดจำหน่ายเกิน 10,000 ก็อปปี้

ขณะเดียวกันการจัดอีเวนท์ต่างๆ เกี่ยวกับแผ่นเสียง เช่น Record Store Day รวมถึง Supermarket อย่าง Tesco ก็มีการสั่งแผ่นเสียงของวงต่างๆ ไปสต๊อก แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาจากสูงสุดคืนสู่สามัญ เพราะถ้าขายไม่ได้ จะจัดงาน หรือสต๊อกสินค้าไว้ทำไม นอกจากนี้เมื่อเทรนด์การรับฟังแผ่นเสียงเริ่มเติบโตขึ้น ผลประโยชน์ก็เริ่มเข้าสู่ค่ายเพลงขนาดเล็กเช่นกัน เพราะพวกเขามีโอกาสจำหน่ายผลงานแพงในราคาที่สูงขึ้น ผ่านต้นทุนการผลิตของแผ่นเสียงที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว และถ้ามีอาร์ตเวิร์กหน้าปกดีๆ ก็สามารถเพิ่มราคาขึ้นได้อีกด้วย

หัวเข็ม ต้นกำเนิดเสียงจากแผ่นเสียง // ภาพ pixabay.com

จริงๆ แล้วต้องขอบคุณ Streaming

Vanessa Higgins ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Regent Street and Gold Bar Records ค่ายเพลงอินดี้ในสหราชอาณาจักร มองว่า แผ่นเสียงจะบูมขนาดนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีบริการ Music Streaming เพราะก่อนหน้านี้ผู้บริโภคเลือกที่จะดาวน์โหลดเพลงมาฟังฟรีๆ แต่พอมีบริการดังกล่าวขึ้นมา ผู้บริโภคก็ยอมที่จะเสียงเงินแลกกับการฟังเพลงที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นในราคาที่รับได้ ดังนั้นพอมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งรู้สึกชื่นชอบการฟังเพลงขึ้นมา ก็เริ่มหารูปแบบใหม่ๆ ในการรับฟัง และเป้าหมายที่ดีที่สุดก็คือแผ่นเสียง ที่สำคัญไม่ได้มีแต่ผู้สูงวัยที่นิยมแผ่นเสียง เนื่องจากตอนนี้วัยรุ่นก็นิยมกันเต็มไปหมด

ในทางกลับกัน เมื่อ Music Streaming บูม และแผ่นเสียงก็มียอดขายเติบโต ดังนั้นโอกาสที่การฟังเพลงแบบดิจิทัลดาวน์โหลดก็มีโอกาสหายไปในอีกไม่ช้า แต่ถึงอย่างไรการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงยังคิดเป็นแค่ยอดขาย 5% ของตลาดรวมงานเพลงในสหราชอาณาจักร แต่เชื่อว่าหลังจากจะนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของศิลปิน และค่ายเพลงด้วย อย่างที่ Jamie Oborne ผู้จัดการวง The 1975 วงร็อคสุดจี๊ดใจในยุคนี้ บอกว่า อัตราต้นทุนต่อกำไรของแผ่นเสียงมันกว้างมาก ดังนั้นการเร่งทำตลาดสินค้าตัวนี้ก็น่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมได้ยาวๆ

สรุป

แผ่นเสียงในสหราชอาณาจักรได้รับความนิยมมาก แต่กระแสนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น สังเกตจากศิลปินทั้งอินดี้ และเมนสตรีมต่างหันมาออกแผ่นเสียงกันเต็มไปหมด และถึงราคาจะแผ่นละพันกว่าบาทก็ยังมีแฟนเพลงยอมซื้อ เพราะพวกเขาเลือกที่จะรับฟังเสียงแบบแอนะล็อก แม้ต้องแลกด้วยการซื้อ Turntable หลักพัน และลำโพงอีกเกือบหมื่นก็ตาม

อ้างอิง

Record sales: vinyl hits 25-year high

Musicians Who Died in 2016

BPI official UK recorded music market report for 2016

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา