กรณีศึกษา: ไลฟ์สตรีมมิ่งจีน ช่วยปั่นยอดขายอีคอมเมิร์ซ มากกว่าแสนล้านหยวนได้อย่างไร?

ตลาดไลฟ์สตรีมมิ่งในจีนที่มีมูลค่าแสนล้านบาทกำลังเติบโตอย่างดุเดือด ? แต่หนึ่งสิ่งที่ต้องจับตามองควบคู่กันไป คือ การเป็นเครื่องมือสำคัญในการดันยอดขายอีคอมเมิร์ซ 

บทความนี้จะพาไปถอดรหัสจากกรณีศึกษาของจีนว่า ไลฟ์สตรีมมิ่งจีนช่วยปั่นยอดขายอีคอมเมิร์ซในจีนให้ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร

Facebook Live ขายของ
Facebook Live ขายของ Photo: Shutterstock

ความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมมิ่งจีน

ไม่ว่าจะมองไลฟ์สตรีมมิ่งในฐานะกระแส หรือในฐานะเครื่องมือใหม่ในการทำการตลาด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลขของการเติบโตในอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมมิ่งจีนก้าวกระโดดอย่างมาก

รายงานของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาประเมินตัวเลขไลฟ์สตรีมมิ่งจีนในปี 2018 ที่ผ่านมาไว้ดังนี้

  • มูลค่าอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมมิ่งจีน 4.4 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
  • ไลฟ์สตรีมมิ่งจีนปี 2018 เติบโตเพิ่มขึ้น 32% เมื่อกับปี 2017
  • รายยังได้ประเมินไว้ว่า ในปี 2018 มีคนจีนที่ดูไลฟ์สตรีมมิ่งทั้งหมดจำนวน 456 ล้านครั้ง

เครื่องมือใหม่ในการปั่นยอดขายอีคอมเมิร์ซจีน

ความน่าสนใจของไลฟ์สตรีมมิ่งจีน คือการเป็นตัวช่วยในการปั่นยอดขายอีคอมเมิร์ซจีน โดยตัวเลขที่มีการเปิดเผยจาก Taobao Marketplace ระบุว่า ในปี 2018 ไลฟ์สตรีมมิ่งจีนดันยอดขายอีคอมเมิร์ซให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 4.7 แสนล้านบาท ด้วยตัวเลขนี้ถือว่าเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 400%

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ตัวเลขนี้นับเฉพาะเพียง Taobao ที่เป็นแพลตฟอร์มในเครือของ Alibaba เท่านั้น

  • นั่นหมายความว่า ตัวเลขที่แท้จริงของการใช้ไลฟ์สตรีมมิ่งดันยอดขายอีคอมเมิร์ซในจีน ย่อมสูงกว่านี้อย่างแน่นอน

ข้อมูลอ้างอิงจาก Alibaba เปิดเผยว่าใน 1 วัน จะมีผู้ไลฟ์สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์ม Taobao กว่า 4,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 80% เป็นผู้หญิง ทำให้มีคอนเทนต์ไลฟ์สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์มกว่า 150,000 ชั่วโมง และเกิดการซื้อสินค้ากว่า 600,000 ชิ้นต่อวัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไลฟ์สตรีมมิ่งจีน สามารถดันยอดขายอีคอมเมิร์ซได้สำเร็จ มี 2 ประการหลักๆ คือ

  1. การใช้เหล่าบรรดา Influencer ในวงการต่างๆ มาเป็นตัวชูโรงเพื่อดึง engagement จากการไลฟ์สตรีมมิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากวงการแฟชั่นและความสวยความงาม เพราะ 2 วงการนี้ถือเป็นมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด
  2. การมี ecosystem ที่ครบครันของแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่ง พูดง่ายๆ คือ แพลตฟอร์มที่ใช้ในไลฟ์สตรีมมิ่งของจีนไม่ได้เป็นแค่โซเชี่ยลมีเดีย (เช่น Facebook หรือ Instagram) เท่านั้น แต่แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งจีน อย่างเช่น Taobao ทำหน้าที่ได้ทั้งในเชิงโซเชียลมีเดียและเป็นพื้นที่ให้ซื้อของอีคอมเมิร์ซได้ในตัวแพลตฟอร์ม และที่มากกว่านั้น ลูกค้าหรือผู้ชมที่กำลังชมไลฟ์สตรีมมิ่งก็สามารถให้เหรียญ Token หรือจะให้ของขวัญ ของรางวัลกับคนที่กำลังไลฟ์สตรีมมิ่งอยู่ ก็สามารถทำได้ทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม (ไม่ใช่แค่ทำได้มากสุดแค่กด Like หรือให้หัวใจเท่านั้น)
ไลฟ์ขายของ Facebook Live
ไลฟ์ขายของ Photo: Shutterstock

อ่านกรณีศึกษาจากจีน แล้วย้อนมามอง “ไทย”

สำหรับประเทศไทย การไลฟ์สตรีมมิ่งขายของไม่ใช่เรื่องใหม่ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทำกันมาสักพักแล้ว ถ้าสืบย้อนไปก็นับตั้งแต่ Facebook Live เปิดตัวในไทยเมื่อปี 2016 เป็นต้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้น

ผ่านไป 2 ปี Facebook เปิดเผยตัวเลขในระดับโลก ระบุว่า ในปี 2018 มีการใช้ Facebook Live เพิ่มมากขึ้นจากปีแรกของการเปิดตัว 2 เท่า และถ้าเจาะไปดูตัวเลขการไลฟ์สตรีมมิ่งจากเพจต่างๆ ก็พบว่าเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า นี่คือกระแสของการไลฟ์สตรีมมิ่งในระดับโลก ซึ่งในไทยก็เกาะกระแสนี้ไปด้วย ไม่ได้แตกต่างอะไร

แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทย ถ้าเทียบกับจีนแล้ว จะเห็นได้ว่า ของไทยส่วนใหญ่ทำผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย (Facebook, Instagram ฯลฯ) ไม่มีแพลตฟอร์มที่มี ecosystem รองรับครบเหมือนกับแพลตฟอร์มของพี่จีนนั่นเอง

  • แต่ล่าสุด ต้นปี 2019 ที่ผ่านมา Lazada เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ให้ไลฟ์สดขายของบนแพลตฟอร์มได้แล้ว นั่นหมายความว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนไทยที่ต้องการทำไลฟ์สตรีมมิ่งขายของผ่านแอพ Lazada ก็สามารถทำได้เลย (เอาเข้าจริง ก็น่าจะลอกโมเดลความสำเร็จมาจาก Taobao Marketplace ในจีนนั่นแหละ)

แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมว่า Lazada คือบริษัทลูกของใคร … ก็ไม่พ้นต้องเป็นของเครือ Alibaba อีกแล้ว!

ข้อมูล – Alizila, Deloitte, Adweek

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา