ด้วยพลังแห่ง Alibaba ก้าวต่อไปของ Lazada คือการเป็น “ซุปเปอร์แอพอีคอมเมิร์ซ” แห่งอาเซียน

ในตลาดอีคอมเมิร์ซของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่ากว่า 1.02 แสนล้านดอลลาร์ (3.2 ล้านล้านบาท) Lazada ถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของภูมิภาค ก้าวย่างต่อจากนี้คือการเป็น Super Solution ให้กับแบรนด์ผู้ขายและผู้บริโภคอย่างครบวงจร

เบื้องหลังความสำเร็จตลอด 7 ปีของ Lazada คือ “Alibaba”

กว่า 7 ปีที่ Lazada ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะอีคอมเมิร์ซในปี 2012 ปัจจุบันต้องยอมรับว่า Lazada ได้กลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Lazada ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Alibaba เพราะถ้าย้อนไปในปี 2016 นับตั้งแต่ที่ Alibaba ได้เข้าซื้อ Lazada อย่างเป็นทางการ ด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ทิศทางและเป้าหมายของ Lazada นับจากนั้นก็ชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ

ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป บอกว่า เป้าหมายสูงสุดของ Lazada คือการเป็น One Stop Shopping ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่ Lazada พยายามทำคือการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี โลจิสติกส์ และการชำระเงิน แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการหนุนหลังจากพลังของ Alibaba” 
  • “มองเห็น Lazada ก็มองเห็น Alibaba อยู่เบื้องหลังนั่นเอง”
ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป
ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป

การสนับสนุนจาก Alibaba ยังไหลมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2017 Alibaba ลงทุนเพิ่มใน Lazada ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ จากนั้นในปี 2018 Alibaba ก็ลงทุนเพิ่มอีก 2 พันล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่าถ้านับรวมทั้งหมด Alibaba ลงทุนใน Lazada ไปแล้วกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เพราะก่อนหน้าที่ ปิแอร์ ปัวยอง จะขึ้นมานั่งแท่นซีอีโอคนปัจจุบันเมื่อปลายปี 2018 ก่อนหน้านี้ Lucy Peng หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคนสำคัญของ Alibaba นั่งในตำแหน่งนั้นมาก่อนที่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นประธานบอร์ดบริหาร

  • ณ วันนี้ Lazada ถือเป็นเบอร์ 1 ในด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นคำถามใหญ่ที่สำคัญคือ แล้วก้าวต่อไปของ Lazada คืออะไร เพราะถ้าดูจากการลงทุนทั้งเม็ดเงินและบุคลากรแล้ว ต้องบอกว่า Alibaba ไม่ต้องการแพ้ในตลาดนี้

ก้าวต่อไปของ Lazada ในภูมิภาคอาเซียน คือ LazMall

LazMall คืออะไร?

LazMall (ลาซมอลล์) คืออีกหนึ่งในแพลตฟอร์มของ Lazada ที่ขายสินค้าออนไลน์ผ่านแบรนด์ต่างๆ โดยเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนปี 2018 โดยจุดเด่นของ LazMall คือการขายสินค้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงผ่านแพลตฟอร์มของ Lazada ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องความน่าเชื่อถือของสินค้า

  • พูดให้เข้าใจง่ายๆ LazMall ก็คือห้างสรรพสินค้าออนไลน์ โดยเมื่อเข้าไปช้อปปิ้งใน LazMall จะเหมือนเดินเข้าห้างสรรพสินค้าไปซื้อสินค้าที่มีแบรนด์ แน่นอนว่าความต่างของ LazMall คือการซื้อของออนไลน์ที่มีแบรนด์ ส่วน Lazada แบบเดิมก็คือการซื้อของออนไลน์จากผู้ค้ารายย่อย ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ๆ แต่ถึงอย่างไรทั้ง Lazada และ LazMall ต่างก็อยู่ในแอพของ Lazada ที่เดียว

จิง ยิน ประธานกรรมการ ของ ลาซาด้า กรุ๊ป เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายของ LazMall ที่แท้จริงคือการตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซของภูมิภาค ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี การส่งสินค้า และการชำระเงิน โดยปัจจุบันมีแบรนด์ที่อยู่ใน ecosystem ของ LazMall กว่า 1,500 แบรนด์ (ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 450 แบรนด์) โดยเป้าหมายของปี 2019 คือการเพิ่มแบรนด์เข้ามาใน LazMall อีกกว่า 5 เท่า หรือคิดเป็นตัวเลขคือ 7,500 แบรนด์

จิง ยิน ประธานกรรมการ ของ ลาซาด้า กรุ๊ป
จิง ยิน ประธานกรรมการ ของ ลาซาด้า กรุ๊ป

การเติบโตของ LazMall เพียง 6 เดือนหลังการเปิดตัวมีดังนี้:

  • ยอดผู้ใช้งานเป็นผู้หญิง 63%
  • การเติบโตของสินค้าที่สูงสุดคือหมวด FMCG
  • มียอดการขายเติบโตสูงถึง 80% ผ่าน LazMall ในวัน Super Brand day
  • มีผู้ซื้อหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 90% ในวัน Super Brand day
  • มียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในวัน Super Brand day
จิง ยิน ประธานกรรมการ ของ ลาซาด้า กรุ๊ป
จิง ยิน ประธานกรรมการ ของ ลาซาด้า กรุ๊ป

หลักคิดของ LazMall คือการเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์แบรนด์และผู้ขายในการทำแบรนด์ การทำการตลาด และการขายแบบครบวงจร โดย LazMall แสดงศักยภาพว่า การจะเป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์นั้นตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี โดยระบุว่า LazMall เกิดขึ้นมาเพื่อเป็น Super Solutions ของทุกคนในวงการอีคอมเมิร์ซ

  • ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและได้รับการสนับสนุนจาก Alibaba ทำให้ทั้งแบรนด์และผู้ขายสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเจาะลึกถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้เข้าใจลูกค้าของตัวเอง
  • เพื่อทำให้ประสบการณ์ของแบรนด์ ผู้ขาย และลูกค้าดีขึ้น การขนส่งสินค้าด้วยระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง จะทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้ภายใน 24 ชั่วโมงใน 6 ประเทศที่ให้บริการ โดยการันตีว่าจะถึงภายใน 72 ชั่วโมง
  • ระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ และหนุนหลังโดย Alibaba (AliPay) รวมถึง Lazada Wallet จะทำให้ทั้งแบรนด์ ผู้ขาย และผู้ซื้อเกิดความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อของ เนื่องจากครบวงจรในตัวเองทั้งหมด

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในสายตาของ Lazada

ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดของ Lazada ในไทยคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ากลุ่มความสวยความงาม และตามมาด้วยสินค้ากลุ่มแม่และเด็ก

  • หนึ่งในคำที่ LazMall ใช้ในการอธิบายตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ “Shoppertainment” หรือก็คือการนำเอาความบันเทิงมาใส่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ล่าสุด LazMall นำเอา Live Streaming มาผสมผสานกับการขายของอีคอมเมิร์ซ โดยเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยเป็นที่แรก (และยังเป็นที่เดียวในขณะนี้) ซึ่งสามารถรองรับผู้ชมในคราวเดียวได้ถึง 1 แสนคน กระตุ้นการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะขายสินค้าแล้วยังสามารถดึงเอาดารา-คนดังมาร่วมในการ Live Streaming การขายสินค้าได้ด้วย

ผู้บริหาร Lazada บอกว่า เหตุผลที่เริ่มที่ประเทศไทยเป็นเพราะศักยภาพในการตลาดของไทย ส่วนอีกหนึ่งเรื่องคือคนไทยใช้และมีส่วนร่วม (engagement) กับโซเชียลมีเดียเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เป้าหมายของ Lazada ในปี 2030

  • “คลื่นลูกต่อไปของการค้าขายระดับโลก ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ๆ แต่เป็นแบรนด์เล็กรายย่อยที่ขายของอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ”

นี่คือคำพูดของผู้บริหาร Lazada ที่ประกาศก้องว่าเป้าหมายของ Lazada ในภูมิภาคนี้คือ “การซื้อขายสินค้าที่เกิดขึ้นได้จากทุกที่บนโลก”

ในปี 2030 Lazada วางเป้าหมายไว้ว่า จะขยายลูกค้าให้ได้ถึง 300 ล้านราย รวมถึงสร้างงานได้อีก 20 ล้านราย นอกจากนั้นจะสร้างผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยอีก 8 ล้านรายทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • ถึงที่สุดแล้ว ศึกอีคอมเมิร์ซยังเติบโตได้อีกมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศึกนี้คือการยอมกรีดเลือดตัวเอง สายป่านใครยาว คนนั้นก็ชนะ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา