LINE TV เป็นอีกแพลตฟอร์มรับชมความบันเทิงที่ถูกจับตามอง หลังสามารถเป็นพาร์ทเนอร์กับช่องดิจิทัลยักษ์ใหญ่ และผู้ผลิตรายการที่หลากหลายรวมกว่า 160 ราย ผ่านการใช้ฐานผู้ใช้ LINE กว่า 40 ล้านคนเป็นตัวดึงดูด
บริการฟรี-ไม่ UGC แต่เลือก Content ดีมาให้
แนวคิดเรื่องให้บริการฟรี และไม่ได้เหมือนคู่แข่งอย่าง YouTube ที่ใช้พลัง UGC (User Generated Content) หรือการให้ผู้ใช้บริการในระบบ Upload ไฟล์วีดีโอเข้ามาเอง คือสิ่งที่ LINE TV ใช้มาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2557 หรือเกือบ 4 ปีแล้ว เพราะตั้งใจเป็นแพลตฟอร์มรวมความบันเทิงที่บริษัทเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดมาให้รับชม
โดยตอนนั้น LINE TV ใช้การดึงรายการจากประเทศเกาหลีที่หาชมจากที่ไหนไม่ได้มาให้รับชมแบบ Exclusive ก่อน แต่ปัจจุบันด้วยจำนวนผู้ใช้ LINE ในประเทศไทยที่มีกว่า 40 ล้านคน กลายเป็นแต้มต่อที่ดีในการไปคุยกับผู้ผลิตรายการในประเทศไทยให้นำรายการต่างๆ มาแพร่ภาพย้อนหลังบน LINE TV บ้าง
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปด้วยดี เพราะมีตั้งแต่ Net Idol ที่เข้ามาผลิตรายการให้ ไล่ไปจนถึงช่องทีวีดิจิทัลยักษ์ใหญ่ทั้งช่อง 3, 9 และช่อง ONE เข้ามาฉายรายการย้อนหลัง บ้างก็ทำรายการแบบ Original Content (ร่วมกันผลิตเพื่อแพร่ภาพบน LINE TV เท่านั้น) รวมๆ ทั้งหมดกว่า 160 รายแล้ว
โทรทัศน์ไม่หายไป แต่จะโตไปพร้อม Online
อริยะ พนมยงค์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ LINE เล่าให้ฟังว่า แม้ LINE TV จะเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านจำนวนผู้ใช้กว่า 20 ล้านคน พร้อมกับเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องการรับชมรายการย้อนหลังด้วยค่าเฉลี่ยการรับชมสูงถึง 176 นาที/คน/วัน แต่ตัวธุรกิจก็จะเติบโตไม่ได้ ถ้าไม่มีเนื้อหารายการดีๆ จากผู้ผลิตรายอื่นในตลาด
“ผมไม่เคยคิดว่าโทรทัศน์มันจะหายไป และมันก็ไม่โดน Cannibalize จากฝั่ง Online ด้วย แต่มันจะเติบโตไปพร้อมๆ ทั้งสองฝั่ง และตอนนี้เราก็มีตัวเลขที่พิสูจน์ว่ามันส่งเสริมกันอย่างชัดเจน เช่นหากกระแสในโทรทัศน์ปกติดี บน LINE TV ก็มียอดรับชมย้อนหลังที่มากไม่แพ้กันด้วย”
ในทางกลับกันถีง LINE TV ปัจจุบันสามารถให้บริการรับชมแบบ Live Streaming ไปพร้อมกับช่องโทรทัศน์ได้ แต่ทาง LINE ขอยังไม่เน้นเรื่องนี้นัก เพราะมองว่า Live เป็นการสร้างการรับรู้ (Awearness) คล้ายกับการทำการตลาดด้วย Sticker หรืออื่นๆ มากกว่า ซึ่งแตกต่างกับการรับชมย้อนหลังที่จะค่อนข้างยั่งยืนในระยะยาว
ช่อง ONE กับพาร์ทเนอร์ระยะยาวรายใหม่
สำหรับรูปแบบธุรกิจของ LINE TV หลักๆ ก็มาจากค่าโฆษณาที่แทรกอยู่ตามวีดีโอที่อยู่ในแพลตฟอร์ม ดังนั้นการจับมือกับผู้ผลิตรายการไทย เพื่อแพร่ภาพสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องจำเป็นอันดับแรก และรายล่าสุดที่จรดปากกาเซ็นกับ LINE TV คือ “ช่อง One” ที่บริหารโดย “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของที่นั่น
ซึ่งบิ๊กบอสในวงการละครไทยมองดีลนี้ว่า เป็นการเปิดตลาดไปสู่ผู้ชมกลุ่มใหม่ ที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความคิดนอกกรอบ และไม่ติดกับความ Traditional เท่าไรนัก จึงเป็นการวัดผลในการทำรายการอีกแง่หนึ่ง ประกอบกับกลายเป็นความท้าทายของบริษัทในการทำเนื้อหาให้โดนใจผู้ชมกลุ่มนั้นโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ทางช่อง One เซ็นสัญญากับ LINE TV เป็นเวลา 1 ปี เพื่อนำละครหลังข่าว และซิทคอมมาฉายย้อนหลังแบบ Exclusive Rerun เป็นระยะเวลา 30 วัน เช่นเรื่อง “ล่า” และร่วมกันสร้าง Original Content อีกครั้ง หลังประสบความสำเร็จจากซิทคอมเรื่อง “เป็นต่อ Uncensored Pool Party พี่ไม่ลืม” ที่มียอดรับชมรวมกันหลายล้าน
สรุป
ในวงการโทรทัศน์ตอนนี้ การลองผิดลองถูกถือเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด เพราะพฤติกรรมผู้ชมนั้นเปลี่ยนไปมาก และการลองผิดลองถูกให้รู้ก่อนว่าผู้ชมขณะนั้นชอบอะไร ก็จะสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจได้ และ LINE TV ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ผู้ผลิตจะมาลองผิดลองถูกกัน คล้ายกับกรณีของ YouTube ที่เคยทำมาแล้วด้วย
อย่างไรก็ตามการฉายย้อนหลังของช่อง One บน LINE TV นั้นแตกต่างกับช่อง 3 ที่ทิ้งให้รอ 48 ชม. เพราะล่นเวลาเหลือเพียงไม่กี่ชม. หลังละครจบ ก็จะเอาขึ้นแพร่ภาพทันที ทำให้คนที่พลาดรายการไป สามารถรับชมได้อย่างต่อเนื่อง และทันท่วงทีกับกระแสนิยม ส่วนเรื่อง Exclusive Content นั้นก็ประสบความสำเร็จตั้งแต่เรื่อง I HATE YOU I LOVE YOU มาแล้ว และปีนี้ก็คงเห็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จอีก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา