“ยอดขายตก ร้านเปิดน้อย ปิดตัวเยอะ”
ประโยคดังกล่าวคือความจริงจากฐานข้อมูล POS ของบริษัท ‘LINE MAN Wongnai’ ซึ่งถ้าลองมาเทียบยอดขายต่อเดือนของแต่ละร้านและสาขา จะพบว่ามันร่วงลงทุกปี โดย
- ไตรมาส 2 ปี 2023: 186,000 บาทต่อเดือน
- ไตรมาส 2 ปี 2024: 180,000 บาทต่อเดือน (ลดลง 3%)
- ไตรมาส 2 ปี 2025: 154,000 บาทต่อเดือน (ลดลง 14%)
‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท LINE MAN Wongnai กล่าวว่า ยอดขายลดลงนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องปกติ เพราะผู้บริโภคมองหาอะไรใหม่ๆ เสมอ แต่ปีที่ผ่านมานี้ ถือว่าลดลงจน “น่าตกใจพอสมควร”
ขณะเดียวกัน ตัวเลขร้านอาหารเปิดใหม่ในแต่ละปีก็ลดลงเช่นกัน โดย
- ครึ่งปีแรก 2023: 96,000 ร้าน
- ครึ่งปีแรก 2024: 63,000 ร้าน (ลดลง 34%)
- ครึ่งปีแรก 2025: 44,000 ร้าน (ลดลง 30%)
- ใน 1 ปี จะมีร้านอาหารเปิดใหม่ปิดตัวลงถึง 50%
กลับกันสิ่งที่ขึ้นสูงเอาๆ กลับเป็น ‘ราคาวัตถุดิบ’ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของร้านอาหาร โดยเพิ่มขึ้นราวๆ 25% จากปี 2023
หากเป็นเช่นนี้ ธุรกิจร้านอาหารในไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร?
ร้านอาหารต้องรู้จักใช้เทคโนโลยี ทำเพื่อขยาย และรัฐไทยต้องช่วยด้วย
ภายในงาน ‘Creative Talk Conference 2025’ ยอดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคไทยกำลังมองหาอะไรที่ “เร็วกว่าและง่ายกว่า” โดยสามารถจำแนกเป็นความสะดวกดังต่อไปนี้
- การรองรับการชำระเงินหลายรูปแบบ (QR Code/บัตรเดบิต/บัตรเครดิต/e-Wallet): 66%
- ความรวดเร็วในการให้บริการ (รับออเดอร์/เสิร์ฟอาหาร/ชำระเงิน): 60%
- การจัดคิวที่ดีและเป็นระบบ: 43%
- ความสะดวกในการใช้บริการ เช่น สแกนสั่งอาหารได้ด้วยตนเอง: 36%
- อื่นๆ: 23%
นอกจากนี้ ยอดมองว่า ‘ทางรอด’ ของร้านอาหารในไทยคือ
- รู้จักใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มยอดขายและลดค่าใช้จ่าย
ยอดอธิบายว่า ปัจจัยหลักในการเลือกซื้ออาหารสมัยนี้คือ ความรวดเร็ว ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเช่น การสั่งอาหารผ่าน QR Code หรือ Self-Ordering จะช่วยลดข้อผิดพลาด ประหยัดเวลา และลดจำนวนพนักงานได้
การรองรับการชำระเงินดิจิทัลก็สำคัญ เพราะ ปัจจุบัน คนไทยใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ถึง 50% มากขึ้นจากปี 2023 ราวๆ 14% และยอดมองว่า ในอนาคตคงเพิ่มขึ้นอีก
ภายในงาน ‘Thailand Coffee Fest 2025’ ยอดยังเล่าอีกว่า การรองรับการชำระเงินดิจิทัลสามารถช่วยเพิ่มยอดขายต่อบิลได้ถึง 32% ขณะที่การสั่งผ่านระบบดิจิทัลก็ช่วยเพิ่มขนาดออเดอร์ประมาณ 37% เลย
- สแตนด์อโลนอยู่ยาก ต้องทำเพื่อขยาย
ยอดเล่าว่า ช่วงหลังๆ มานี้ ‘ร้านอาหารเชน’ มียอดขายมากขึ้น ส่งผลให้ร้านเล็กๆ หรือสแตนด์อโลนอยู่ยาก เพราะโดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป ดังนั้น หากใครจะทำร้านอาหาร ก็ควรคำนึงถึงการขยับขยายด้วย
- ทำข้อมูลให้ดีเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน
สืบเนื่องจากข้อก่อนหน้า หากจะทำเพื่อขยาย ร้านอาหารต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการต้องจัดการระบบร้านให้ดี
แต่เชื่อหรือไม่ ยอดเล่าว่า 79% ของร้านอาหารในไทยไม่จดทะเบียนร้านอาหาร และ 96% ของบรรดาร้านที่จดทะเบียนนั้น กลับจดในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งหมายความว่า พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องทำบัญชีหรือส่งภาษีก็ได้
ยอดมองว่า การกระทำแบบนี้เป็นดาบสองคม เพราะแม้ต้นทุนจะไม่สูง แต่ข้อมูลของร้านอาจไม่เพียงพอให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นกัน
- ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
ยอดอยากเป็นตัวแทนในการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือวิกฤตนี้อย่างเป็นระบบตามขนาดร้านอาหาร โดย
- ร้านขนาดใหญ่: สร้างสิทธิ์ทางด้านภาษีเชิงนโยบาย เช่น ช่วยเหลือเรื่องการขยายสาขาในต่างประเทศ หรือทางลัดสู่ตลาดทุน
- ร้านขนาดกลาง: จัดโครงการรูปแบบ ‘Co-payment’ ยิ่งทำมาก ยิ่งได้มาก และเติบโตไปด้วยกัน
- ร้านขนาดเล็ก: สนับสนุนค่าใช้จ่ายและอุปกรณ์จำเป็นให้กับร้านในระบบภาษี
“อยากเป็นหนึ่งเสียงในการบอกว่า ร้านอาหารลำบากจริงๆ ปีนี้ แล้วก็ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น” ยอดกล่าว
สถานการณ์ร้านอาหารอาจแย่ แต่ตลาดกาแฟยังโตอยู่ โดยเฉพาะสเปเชียลตี้
ท่ามกลางวิกฤตร้านอาหารแบบนี้ เชื่อไหม ‘ตลาดกาแฟ’ กลับโตไวสวนกระแสเพื่อนๆ
LINE MAN Wongnai เล่าว่า แม้จำนวนร้านกาแฟเปิดใหม่ในปี 2025 จะเหลือเพียง 5,000 แห่ง จากที่เคยเปิดเพิ่มกันถึง 7,000 แห่งในครึ่งปีแรกของ 2024 แต่ธุรกิจนี้มี ‘อัตราการปิดตัวในปีแรก’ น้อยกว่าร้านอาหารทั่วไปประมาณ 7% เลย
ยิ่งไปกว่านั้น ยอดเผยว่า ‘ร้านกาแฟสเปเชียลตี้’ ที่ขายในราคาจับต้องได้ หรือราคาต่ำกว่า 100 บาทต่อบิล กลายเป็นสัดส่วนตลาดที่โตไวที่สุด โดยโตถึง 46% ในกรุงเทพฯ และ 19% ในต่างจังหวัด
ไม่ใช่แค่นั้น กาแฟสเปเชียลตี้ยังครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่กว่ากาแฟทั่วไปด้วย เพราะมีสัดส่วนยอดขายทั่วประเทศประมาณ 56% แต่ถ้าเจาะลึกมาที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเดียว สัดส่วนจะสูงราว 66% เลย
ในส่วนของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ยอดขายกาแฟใน LINE MAN เติบโตขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2024 และโดยเฉลี่ยแล้ว 22% ของยอดขายร้านกาแฟมาจากช่องทางนี้ สะท้อนว่า การเข้าถึงลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทางยังเป็นหัวใจสำคัญ
สุดท้ายนี้ เรามองว่าทางรอดที่ยอดแนะนำมาถือเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย และเราเชื่อว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายๆ คนคงกำลังพยายามปรับตัวกันอย่างเต็มที่
ดังนั้น หากรัฐไทยยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเป็นระบบจริงๆ โอกาสแก้วิกฤตธุรกิจร้านอาหารไทยย่อมเป็นไปได้มากขึ้น
หมายเหตุ: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือของ LINE MAN Wongnai
- เชฟแพม ชี้ ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารไทยในช่วงนี้ลำบากมาก ๆ
- เปิดเป็นแสน ก็เจ๊งเป็นแสน ร้านอาหารเปิดใหม่ในไทย ยังมีหวังไหม?
ที่มา: LINE MAN Wongnai
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา