LINE ประเทศไทย ซื้อทีมวิศวกรไอทีคนไทยร่วมงานครั้งแรก ครึ่งปีหลังต้องเห็นอะไรใหม่ๆ

ได้ยิน LINE ประเทศไทยพูดถึงการตั้งทีมวิศวกรไอทีมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้เปิดหน้ากันให้เห็นชัดๆ คือ “DGM59” โดย LINE ได้ซื้อสตาร์ทอัพรายนี้มาเป็นนักพัฒนาในทีม คงได้เห็นอะไรใหม่ๆ มากขึ้นในปีนี้

ทีม DGM59 ที่มาร่วมงานกับ LINE ประเทศไทย

เปิดตัวทีมวิศวกรไอทีทีมแรกของ LINE ประเทศไทย

หลังจากที่ LINE ประกาศรุกหนักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการทั้งหมดที่ส่งมาในช่วงหลังอย่าง LINE TV, LINE TODAY หรือ LINE MAN นับเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะบางตัวทำรายได้แล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องการการต่อยอดทางธุรกิจ แต่บางอย่างก็ต้องการการพัฒนาทั้งในแง่ของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อีกมาก

LINE ประเทศไทยเลยซื้อตัวสตาร์ทอัพไทย DGM59 ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะหมายความว่า LINE ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ จากคนหน้าใหม่เหล่านี้ ที่สำคัญการเป็นสตาร์ทอัพไทยก็ได้เปรียบในแง่ของความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค หรือปัญหาในท้องที่ของตัวเองได้ดี ที่น่าสนใจคือ DGM59 เป็นสตาร์ทอัพที่เคยทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ หลายรายกว่า 20 แห่ง เช่น ในแวดวงรถยนต์ ไฟแนนซ์ โดยได้เข้าไปช่วยแบรนด์ทั้งในด้านการตลาดและซอฟต์แวร์ ด้วยฝีมือและประสบการณ์ที่โดดเด่นจึงทำให้ LINE ประเทศไทยสนใจและซื้อตัวมาร่วมงานในครั้งนี้นั่นเอง

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย

สำหรับดีลซื้อตัวครั้งนี้ LINE ไม่เปิดเผยรายละเอียดเรื่องมูลค่า อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย บอกว่า นับเป็นครั้งแรกที่ LINE จะมีทีมวิศวกรไอทีคนไทยเป็นตัวเป็นตน และน่าจะถือโอกาสนี้ในการพัฒนาด้าน R&D ของ LINE ไปในคราวเดียวเลย

นอกจากนั้น ยังยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เราจะทำอย่างไรให้คนไทยใช้บัตรเครดิตมากขึ้น และที่สำคัญต้องผ่าน LINE คือทำอย่างไรให้คนจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตโดยผ่านช่องทางของเรา งานแบบนี้ทีม DGM59 จะเข้ามาช่วยเสริม LINE ได้”

ถูกซื้อตัว โจทย์เปลี่ยน ความท้าทายใหม่ คือศักยภาพในสินค้าและบริการ

ทีมงาน DGM59 เล่าให้ฟังว่า ความท้าทายจากตอนเริ่มทำสตาร์ทอัพกับตอนที่จะมาทำที่ LINE นี้ต่างกันมาก เพราะสมัยที่เป็นสตาร์ทอัพโจทย์หลักคือทำอย่างให้ฐานคนใช้งานมีมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่คนใช้งานอยู่ที่หลักหมื่น โจทย์ในตอนนั้นคือทำอย่างไรให้เป็นหลักแสนหรือหลักล้าน แต่การเข้ามาร่วมงานกับ LINE โจทย์ต้องเปลี่ยน ดังนั้นความท้าทายใหม่คือ ปัจจุบันมีคนใช้งาน LINE ในประเทศไทยอยู่แล้วกว่า 40 ล้านคน โจทย์จึงไม่ใช่การขยายฐานเป็นหลักแล้ว แต่คือทำอย่างไรให้คนที่ใช้งาน LINE มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นจากสินค้าและบริการที่เราส่งไปมากกว่า

DGM59 ทีมนักพัฒนา LINE ประเทศไทย

สรุป

สำหรับผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยคงต้องเตรียมตัวพบกับสินค้าและบริการใหม่ๆ จากการซื้อทีมวิศวกรชาวไทยของ LINE มาร่วมงานในครั้งนี้ แต่สำหรับสตาร์ทอัพไทยทั้งหลายที่กำลังทดลองทำอะไรใหม่น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่รายนี้เข้าซื้อกิจการไปร่วมทีม ไม่แน่ว่าครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพไทยในการริเริ่มอะไรใหม่ๆ แล้วเอาไปเสนอ LINE ก็เป็นได้

___________________

ประวัติและข้อมูลของ DGM59 : เป็นบริษัทซอฟท์แวร์ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากการรวมตัวกันของนักศึกษาจบใหม่ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาซอฟท์แวร์ ไปสู่การเป็นบริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอล และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดดิจิตอลต่างๆ โดยในปี 2559 DGM59 ได้พัฒนาบริการ BCRM ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าสำหรับ LINE ออฟฟิเชียล แอคเคาท์ โดยการใช้ LINE API โดย BCRM จะมาเติมเต็มบริการต่างๆ ของ LINE ด้วยการเก็บข้อมูลผู้ใช้ต่างๆ ใน LINE ออฟฟิเชียล แอคเคาท์ ซึ่ง DGM59 คือผู้ชนะการแข่งขัน LINE Hackathon เมื่อปีที่ผ่านมา และเริ่มทำงานใกล้ชิดกับ LINE มากขึ้นเพื่อต่อยอดการพัฒนาแอพพลิเคชัน LINE มาโดยตลอด

ส่วนทีมงานหลักประกอบด้วย ซินหมิง จ้าว, ภูมิพัฒน์ เตชะพูลผล และวิเชาวน์ แสงหิรัญวัฒนา ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง DGM59 โดยทั้ง 3 คน รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรวมถึง ณัชพล ไตรวงศ์วรนาถ ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับ DGM59 เมื่อปี 2556

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา