Life Coaching: ธุรกิจพุ่งแรงจากโควิด มูลค่าแตะ 1.6 แสนล้านบาท แต่ยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ

ช่วงโควิดเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนจำนวนมากเลือกที่จะหันหน้าเข้าหาผู้ให้คำปรึกษาหรือ Life Coach จนอาชีพนี้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงสุดในสหรัฐอเมริกา

International Coaching Federation คาดการณ์มูลค่าของธุรกิจให้คำปรึกษาหรือ Life Coaching ที่รวมถึงเรื่องอาชีพการงาน การเงิน และความสุขไปจนถึงบริการที่ช่วยสร้างแรงจูงใจ ไว้ที่ 4.56 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1.6 แสนล้านบาท 

ในช่วงระหว่างปี 2019-2022 จำนวนของผู้ให้คำปรึกษา (Life Coach) ยังเพิ่มขึ้น 54% และกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา ความนิยมนี้เกิดขึ้นพร้อมกับธุรกิจ “การพัฒนาบุคลากร” (People Development) ที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีนี้ด้วย

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจ Life Coaching เติบโตขึ้น

โควิด-19 เป็นตัวที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจ Life Coaching ได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก 

อย่างแรก คือ ปัญหาสุขภาพจิต ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายคนเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต และอีกหลายคนยังตั้งคำถามและให้คำนิยามใหม่กับเป้าหมายและคุณค่าในชีวิต

Emily Maguire ที่ปรึกษาและ Life Coach ด้านการทำงานเผยว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตทำให้คนจำนวนมากรู้สึกหลงทางและต้องการคำแนะนำ เทรนด์ในอินเทอร์เน็ตก็เป็นตัวบ่งบอกเพราะหัวข้อทั่วไปที่ผู้คนค้นหาเมื่อต้องการปรึกษา Life Coach จะเป็นเรื่องงาน ความมั่นใจ ความสัมพันธ์ โรคสมาธิสั้น และความวิตกกังวล

อย่างที่ 2  คือ โซเชียลมีเดีย ที่เป็นทั้งพื้นที่ให้ Life Coach โปรโมทบริการและความเป็นมืออาชีพของตัวเอง และยังเป็นที่ให้โพสต์ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวลงบนแพลตฟอร์มอย่าง Instagram และ TikTok ที่จะช่วยโน้มน้าวลูกค้าว่าบริการที่ปรึกษาจะทำให้ผู้รับคำปรึกษามีชีวิตที่ดีตามอุดมคติแบบนี้ได้เช่นเดียวกัน

ธุรกิจ Life Coaching: ธุรกิจที่ยังถูกตั้งคำถาม

หลายคนได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้ให้คำปรึกษา แต่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่รับบริการจำนวนมากกลับมองว่า ธุรกิจ Life Coaching ทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงเพราะใคร ๆ ก็สามารถเรียกตัวเองว่า Life Coach ได้

แม้ว่าธุรกิจนี้จะมีองค์กรที่เชื่อถือได้ที่ดูแลอย่าง International Coaching Federation แต่ก็ไม่มีมาตรฐานทางด้านกฎหมายที่เป็นตัวกำหนดว่าใครจะสามารถเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้บ้าง รวมทั้งการเริ่มต้นเป็น Life Coach ก็อาศัยเงินจำนวนไม่มาก ใคร ๆ ก็เลยเริ่มทำได้ 

ขณะที่การให้บริการคิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 75-200 เหรียญหรือราว 2,600-7,000 บาทต่อชั่วโมง นับเป็นไม่กี่อาชีพที่ทำรายได้สูงโดยไม่ต้องผ่านเกณฑ์หรือมาตรฐานการประกอบอาชีพที่สูงตาม

Jane Marie นักข่าวเจ้าของช่องพอดคาสต์ The Dream ที่วิเคราะห์สาเหตุของการตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางการตลาดกล่าวว่า ผู้ที่เป็น Life Coach อาจจะจบหรือไม่จบการศึกษาด้านจิตวิทยาก็ได้ รวมทั้งอาจไม่ได้รับการฝึกอย่างเป็นทางการ และอาจจะไม่เชี่ยวชาญในสิ่งที่อ้างว่าเชี่ยวชาญอีกด้วย 

การขาดมาตรฐานและกฎที่ควบคุมธุรกิจนี้ทำให้หลายคนที่มองหาบริการจาก Life Coach กลายเป็นเหยื่อของการหลวกลวง โดย Life Coach ที่ไร้ศีลธรรมจะพุ่งเป้าไปที่ลูกค้าที่กำลังรู้สึกสิ้นหวัง การเรียกเก็บค่าบริการสูงจากการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานยังทำลายชื่อเสียงของผู้ที่เป็นมืออาชีพที่ตั้งใจให้คำปรึกษาด้วย 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่ได้ประโยชน์จากการขอคำแนะนำจากผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ ขณะที่บางองค์กรพยายามสร้างมาตรฐานในการประกอบอาชีพ อย่าง Association of Coaching ที่กำหนดว่าสมาชิกจะต้องได้รับการเทรนตามชั่วโมงที่กำหนด ขณะที่ European Mentoring และ Coaching Council ก็มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม

ที่มา – BBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา