5 วิธี Restart ชีวิตใหม่จากนักจิตวิทยา เมื่อรู้สึกติดกับดักชีวิตและจมดิ่งกับบางเรื่อง

Adam Alter นักจิตวิทยาและศาสตรจารย์ในมหาวิทยาลัย เผย 5 ข้อสำคัญที่ทำได้เมื่อรู้สึกชีวิตติดกับดักอยู่กับปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งหมดไฟกับงาน ความสัมพันธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ แผนชีวิตที่ยังไม่สำเร็จ

Adam Alter ที่ในปัจจุบันทำงานมา 15 ปีและเป็นเจ้าของหนังสือ Anatomy of a Breakthrough ที่พูดถึง 100 วิธีแก้ชีวิตติดขัด ได้เสนอ 5 วิธีที่จะออกจากกับดักชีวิตเมื่อรู้สึกมืดแปดด้านหลังจากตัวเขาเองก็มีประสบการณ์แบบเดียวกัน

ตอนอายุ 28 ปี ตัวของ Adam Alter เองขณะนั้นหลังจากจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาที่ Princeton University แล้วได้เข้าทำงานเป็นศาสตรจารย์ที่ N.Y.U. Stern School of Business กลับรู้สึกว่าติดกับดักชีวิต จมอยู่กับเรื่องเตรียมการสอนและทำวิจัย และยังรู้สึกว่าคิดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเพื่อนแม้ว่าจะท่ามกลางคนจำนวนมากในนิวยอร์ก

เขาเปรียบเทียบความรู้สึกนี้ว่าเหมือนติดอยู่บนสายพานที่วนไป ได้ทำงานแต่ก็ไม่มั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นทางที่จะทำให้ประสบความสำเร็จหรือไม่

ในปี 2020 Adam Alter ได้ทำสำรวจสำรวจความรู้สึกผู้คนหลายร้อยคน พบกว่าทุกคนมีปัญหาเหล่านี้อย่างน้อย 1 อย่าง คือ การขาดความคิดสร้างสรรค์ อาชีพการงานที่ไม่คืบหน้า ความสัมพันธ์ที่ไม่น่าพอใจ การเก็บเงินไม่อยู่ และปัญหาอื่น ๆ

ทำไมถึงรู้สึกติดกับดัก ไม่ไปไหน

Adam Alter อธิบายความรู้สึกที่ว่าชีวิตติดกับดัก สับสน จมกับเรื่องอะไรสักอย่างนี้ว่าเป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนทั่วโลก ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อต้องจัดการเป้าหมายชีวิตระยะยาวที่จะต้องถึงจุดหนึ่งชีวิตอยู่คงที่ ไม่ก้าวกระโดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเป้าหมายบางอย่างยังไม่มีจุดสิ้นสุดที่ชัดเจนทำให้รู้สึกว่าตัวเองกำลังก้าวไปข้างหน้าได้ยาก

ความรู้สึกแบบนี้ยังอาจมาจากความเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่อย่างการเจ็บป่วย การมีลูก การย้ายงานหรือถูกปลดออกจากงาน ผู้คนยังมีแนวโน้มที่จะครุ่นคิดถึงชีวิตของตัวเองทุก 10 ปี อย่างเช่นตอนอายุ 29 ปี หรือ 39 ปี ทำให้รู้สึกจมดิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านถ้าชีวิตไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทำยังไงถึงออกจากความรู้สึกนี้ได้

Adam Alter ได้เสนอ 5 วิธีที่ทำให้หลุดพ้นจากความรู้สึกจมดิ่ง ติดกับดักกับเรื่องราวบางอย่างในชีวิต

ข้อแรก ลองดูว่ามีอุปสรรคอยู่ตรงไหน สิ่งนี้เป็นวิธีที่บริษัทต่าง ๆ ใช้เพื่อกำจัดจุดที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตเพื่อดูว่าอะไรที่สร้างอุปสรรคและทำให้รู้สึกกดดัน

ตอนแรกให้เริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่า เรากำลังทำอะไรซ้ำ ๆ ที่ไม่มีประโยชน์หรือเปล่า หรือมีบางอย่างที่เราไม่ชอบอยู่แล้วเป็นปกติในชีวิตไหม ขั้นตอนต่อมาคือค่อย ๆ กำจัดอุปสรรคนั้นออก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่ชอบเดินทางแต่เหนื่อยเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงจุดนี้ ก็ให้ลองถามตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เราไม่ชอบการเดินทางที่สุด จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง อย่างลองฟังพอดแคสต์หรือฟัง Audiobook ขณะเดินทางจะช่วยไหม รือถ้าขับรถไปทำงาน จะเปลี่ยนมาเป็นการติดรถคนอื่นไปแทนได้ไหม หรือว่าจะทำอย่างไรบ้างให้ Work From Home บ่อยขึ้นได้

ข้อสอง เปลี่ยนความคิดลบ คนที่รู้สึกติดกับดักชีวิตอาจจะเป็นคนที่คิดว่าสิ่งที่ไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้น หรือกดดันตัวเองว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น คิดว่าตัวเองควรจะต้องทำงานให้มากกว่านี้อีกแม้ว่าจะทำงานมากอยู่แล้วก็ตาม

Judy Ho นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Pepperdine University บอกว่า ความคิดแบบนี้เองที่สร้างความกดดันและขัดขวางเป้าหมาย สิ่งที่ทำได้คือการลองเปลี่ยนความคิด เช่น จากเดิมที่คิดว่าทำงานนี้ไม่สำเร็จแน่ก็ให้เปลี่ยนเป็นคิดว่าจะทำให้ดีที่สุด ถ้ามีปัญหาก็จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

สุดท้ายคือให้ประเมินความคิดของตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังมีความคิดแบบนี้ อะไรที่สนับสนุนให้เราคิดแบบนี้และอะไรที่ทำให้เราไม่ควรคิดว่าเหตุการณ์จะเป็นไปอย่างที่คิด

ข้อสาม จินตนาการถึงชีวิตที่ไม่รู้สึกติดกับดักแล้ว Sarah Sarkis นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวว่าให้จิตนาการถึงชีวิตที่ไม่รู้สึกติดขัดแล้วว่าจะเป็ยยังไง จะรู้สึกยังไง ต่อมาก็ให้คิดว่าจะมีอะไรที่ทำได้บ้างเพื่อให้เราไปถึงจุดที่เราจินตนาการแล้วเขียนออกมาด้วยมือเพราะจะช่วยให้เราลงมือทำได้

เธอยังบอกอีกว่าอย่ารอให้พร้อมถึงจะลงมือทำ ให้ทำขั้นตอนนั้นอย่างน้อยวันละขั้นตอนถ้าทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ใจดีกับตัวเอง ถ้าทำไม่ได้บางวัน ก็ให้เริ่มใหม่ในวันถัดไป

ข้อสี่ แชร์เป้าหมายให้คนอื่นรู้ การเล่าเรื่องสิ่งที่อยากจะทำให้สำเร็จให้คนอื่นได้รู้เป็นวิธีที่มีประโยชน์ อย่าง Adam Cheyer ผู้ร่วมสร้าง Siri และรองประธานฝ่าย A.I. Experience ที่ Airbnb เป็นคนหนึ่งที่กล่าวว่า วิธีนี้ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ รวมทั้งมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งตรงที่ว่าอาจจะมีบางคนยื่นมือเข้ามาช่วยเราก็ได้

ข้อห้า ทำสิ่งที่มีความหมาย Adam Alter กล่าวว่า การใช้เวลากับกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณค่าที่เรายึดถือช่วยผลักดันเราไปข้างหน้าถ้ารู้สึกติดกับดักในสิ่งที่ไม่มีความหมายกับเรา

อย่างตัวเขาเองที่รู้สึกหมดแรงจูงใจในช่วงที่เริ่มสอนใหม่ ๆ เขาได้ไปเข้าร่วมกลุ่มอาสาสมัครเพื่อรับบริจาคเงินสำหรับองค์กรสุขภาพที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองผ่านการวิ่งมาราธอน ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเองก็มีเพื่อนที่เสียชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว การไปเป็นอาสาสมัครยังทำให้เขาได้เจอเพื่อนใหม่หลายคนด้วย

ที่มา – New York Times

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา