ข้อสังเกตหลัง ‘ก้อย’ เสียชีวิตปริศนา คดีดังที่ทำให้คนนึกถึงการเสียชีวิตแปลกๆ ของญาติตัวเอง l BI Opinion

friendship

1) ประโยคที่ว่า “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” ฟังดูไม่อันตรายเท่า “ให้ไว้ใจคนกันเอง” 

เอาเข้าจริง “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจกันอยู่แล้ว แต่ประโยคนี้สะท้อนความหมายขัดแย้งกับโลกแห่งความเป็นจริง หลายต่อหลายครั้งปัญหาที่ผู้คนพบเจอมักมาจากคนกันเอง คนใกล้ตัว คนที่รู้จักกัน คนที่คุ้นเคยกันเองนี่แหละที่มักจะทำร้ายกันเองมากกว่าคนที่ไม่รู้จักกัน 

คำว่า “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” ไม่เพียงทำให้เราระวังอย่างสุดโต่งกับคนที่ไม่รู้จักกัน แต่ดันบล็อคความคิดที่จะระแวงคนที่เป็นเพื่อนตัวเองไปด้วย เราเป็นมิตรแบบไม่ติดสงสัยกับคนที่เรานับว่าเขาเป็นเพื่อนเราเสมอ

2) ในอดีต ต้องระวังตัวเมื่อเที่ยวกลางคืน ปัจจุบัน เพิ่มวัดและการทำบุญเข้าไปด้วย

จริงๆ แล้ว “การระวังตัว ไม่ใช่เรื่องสถานที่ แต่เป็นผู้คนที่แวดล้อมตัวเรา”

ส่วนใหญ่ ผู้คนอาจระวังตัวเมื่อต้องไปตามผับตามบาร์ ตามสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน แต่ปัจจุบันไม่ต้องรอให้ถึงเวลากลางคืนและออกเที่ยวก่อน จึงค่อยระวังตัวแล้ว

แต่ให้เริ่มระวังตัวตั้งแต่ “การถูกชวนให้ไปวัด ไปทำบุญ ไปกินข้าวพบปะสังสรรค์ธรรมดาๆ ด้วย” โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็น “สังคมเมืองพุทธอย่างไทยๆ” นี่แหละ เราก็เห็นกันดี หลายๆ เคสที่เป็นข่าวฉาวใหญ่โตในบ้านเมืองหลายต่อหลายครั้ง ก็มักจะมีบุคคลที่สวมรอยอาชีพพระแฝงมาด้วยเสมอๆ นี่ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นขาประจำอีก

แน่นอนว่า ศาลยังไม่ตัดสินคดีนี้ แต่การไล่เลียงการเสียชีวิตย้อนหลังของผู้คนที่เชื่อมโยงกับผู้ต้องหา ตลอดจนการให้ข้อมูลเพิ่มเติมของผู้รอดชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา หลังไปวัดกลับมาก็เสียชีวิต แม้ไม่ใช่ทุกเคสที่ไปวัดแล้วเสียชีวิต แต่ก็มีการชักชวนให้ไปวัดเกิดขึ้นเพียง 2-3 เคสก็ย่อมทำให้คนฝังใจว่าไปวัด ไปทำบุญแล้วเสียชีวิตฟังดูน่ากลัวกว่าชวนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เหตุผลก็เพราะความขัดแย้งในตัวเรื่องของมันสูง 

ภาพจำที่คนไทยชาวพุทธคุ้นชินคือการไปวัด ไปทำบุญ ปล่อยนก ปล่อยปลา = กิจกรรมที่คนที่ดูมีจิตใจดี เข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรม คนถือศีล คนที่ดูเป็นคนดีเขาทำกัน เมื่อมีข่าวการฆาตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้คนจดจำได้แม่นยำขึ้นและรู้สึกถึงความสยดสยองของเรื่องราวนั้น อีกทั้งกิจกรรมนี้เป็นการชักชวนที่ทำให้ผู้คนชะล่าใจว่าปลอดภัยแน่นอน เพราะภาพสะท้อนของมันคือการไปทำบุญ ดูขาวสะอาด ดูแล้วไม่น่ามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า การระวังตัวไม่ได้อยู่ที่สถานที่ที่ไป แต่อยู่ที่ผู้คนที่แวดล้อมเราต่างหาก 

3) เมื่อพบเห็นเหตุผิดปกติ เหตุน่าสงสัย รู้สึกข้องใจการเสียชีวิตของญาติ ควรตัดสินใจใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ช่วยทำให้หายข้องใจ

แน่นอนว่าตอนที่เสียใจที่สุดในชีวิตที่คนที่ตัวเองรักจากโลกนี้ไป หลายครั้งทำให้การตัดสินใจอาจคาดเคลื่อนกว่าตอนไม่เสียใจ หากไม่สบายใจควรระบายให้ญาติ คนใกล้ชิดฟัง เผื่อจะมีการแนะนำทางออกให้พึ่งพา “การชันสูตร” นอกจากทำให้หายข้องใจ ไม่ติดใจ ที่สำคัญยังสามารถเก็บข้อมูลเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันหรือเอาผิดย้อนหลังได้

ข้อนี้ยากมาก ในช่วงที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความเศร้าโศก สะเทือนใจ เป็นเรื่องปกติที่เราจะไม่สามารถตัดสินใจได้เท่าช่วงที่เรามีจิตใจเป็นปกติ ญาติสนิทมิตรสหายที่จริงใจต่อกันควรช่วยยืนยันเรื่องนี้

4) เป็นทนายความของผู้ต้องหา มีความรู้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่แล้ว อย่าลืมวางตัวหรือแสดงให้สังคมหรือสาธารณะเห็นหน่อยว่า ได้พยายามแสดงท่าทีให้เกียรติผู้เสียชีวิตและญาติที่เป็นผู้สูญเสียแล้ว

ถึงไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือสะเทือนใจไปกับผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิต หรือมั่นใจว่าจะชนะคดีมากแค่ไหน การควบคุมอารมณ์และสงวนท่าทีให้สงบในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้อื่นเศร้าโศกเสียใจ ย่อมดีกว่าแสดงท่าทียินดีหรือร่าเริง แม้แสดงท่าทีร่าเริงเพียงเล็กน้อยแต่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้อื่นเศร้าโศกและยังเป็นฝ่ายผู้ต้องสงสัย ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงที่ได้หลังจากนี้ ย่อมสร้างผลกระทบเชิงลบทั้งต่อตัวเองและผู้ต้องหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Make Merit, Monk

5) เวลาเดินทางไปไหน มีกิจกรรมในชีวิตอย่างไร อย่าลืมบอกคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวให้รับรู้บ้าง 

อย่างน้อยถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดก็สามารถติดตามตัวหรือช่วยเป็นพยานรู้เห็นเมื่อเกิดเหตุผิดปกติได้ ช่วงนี้ เรามักได้ยินข่าวคนหายบ่อยๆ และมักจะพบว่าเขากลายเป็นร่างไร้วิญญาณในเวลาต่อมา 

6) จงระวังตัวให้มากหากต้องผูกพันกับผู้อื่นด้วยผลประโยชน์ โดยเฉพาะผลประโยชน์เรื่อง “เงิน”  เงินยิ่งมีจำนวนมากเท่าไรมันยิ่งสะท้อนผลประโยชน์มาก ให้ต้องระวังตัวมากเท่านั้น ไม่มีอะไรรับประกันชีวิตเราได้เลยว่าผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา “คิดอะไรอยู่” หรือ “ต้องการอะไรจากเรา”

7) ภาพลักษณ์ของคน

คนที่มีภาพลักษณ์ดี บุคลิกดี น่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ ดูเป็นคนดี ก็อาจไม่ใช่คนจิตใจดีมีเมตตาต่อผู้คนเสมอไป แน่นอนว่า คนที่เกรี้ยวกราด ดุร้าย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซ่อนความเป็นคนจิตใจดีเช่นกัน ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าคนที่มีบุคลิกภายนอกเช่นใด ภายในจะเป็นแบบเดียวกันหรือต่างกัน ผู้คนนั้นซับซ้อน

8) สรุปสุดท้าย: อย่าด่วนตัดสินใคร แต่อย่าลืมฝึกสงสัยให้มาก 

อย่างที่ระบุไว้ข้างต้น เรายังไม่ได้ตัดสินว่าผู้ต้องหาเป็นคนผิด เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่เรากำลังจะย้ำเตือนว่า อย่าด่วนตัดสินใคร แต่ให้เก็บความสงสัยไว้ อย่าลืมสังเกต จดจำ หรือถ้าไม่อยากให้เป็นภาระความทรงจำ ควรจดบันทึก

หลายต่อหลายเรื่องเมื่อเวลาผ่านไป เราจะลืมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่าลืมจดบันทึกข้อสงสัยเหล่านั้น เล่าให้คนในครอบครัวฟังบ้าง เผื่อในอนาคตเราอาจได้ใช้ประโยชน์จากมัน

ที่มาข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อ: โหนกระแส (1), (2), ไทยรัฐ (1), (2), อีจัน 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา