อาบน้ำร้อนมาก่อนไม่ได้แปลว่าถูกต้อง วิจัยเผย ยิ่งฟังผู้ใหญ่น้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีรายได้มากขึ้น

young teen

เมื่อความดื้อรั้นไม่ฟังผู้ใหญ่ อาจเป็นหนึ่งในหัวใจของความสำเร็จ

เมื่อผู้ใหญ่อาจรู้ไม่เท่าทันโลกที่ก้าวไปข้างหน้าทุกวันอย่างฉับไวอย่างที่ตัวเองคิด บางทีหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องชีวิตอาจควรตกไปอยู่ในกำมือของตัวคนรุ่นใหม่ให้ได้เรียนรู้เอง ก้าวตามเส้นทางที่วางไว้เอง เผชิญความผิดพลาดเอง ไปหาจุดมุ่งหมายที่มีความหมายต่อตัวเองอย่างที่ใจต้องการ

ออกจะเป็นโชคร้ายสำหรับผู้ใหญ่สักหน่อยตรงที่ “ความดื้อรั้น” ที่ผู้ใหญ่ขยาด อาจเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในแง่การทำงาน และเรื่องนี้ก็มีการวิจัยอย่างเป็นระบบมารองรับอย่างชัดเจน

ยิ่งดื้อ ยิ่งประสบความสำเร็จ

งานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการจากวารสารวิชาการ Developmental Psychology ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 เป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง “ความดื้อรั้น” และ “ระดับรายได้” ผ่านการเก็บข้อมูลของเด็กกว่า 700 คนตั้งแต่เริ่มศึกษาระดับประถมปลายจนย่างเข้าวัยผู้ใหญ่เต็มตัว (ตั้งแต่อายุ 12 ถึง 52 ปี) 

การศึกษาครั้งนี้เน้นไปที่ความหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลิกภาพแบบหนึ่ง เช่น ความแหกกฎ ความเอาแต่ใจตัวเอง ความตั้งใจเรียน หรือการต่อต้านพ่อแม่ น่าสนใจว่า ผลลัพธ์ของการทดลองคือการที่โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จะกลายเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุดในอนาคต

invest
ภาพจาก Shutterstock

เมื่อยิ่งดื้อ คือยิ่งรู้ใจตัวเอง แล้วพ่อแม่ต้องทำอย่างไร

เด็กที่มีแนวโน้มไม่ฟังพ่อแม่และกล้าที่จะพูดคำว่า “ไม่” คือเด็กที่รู้ความต้องการของตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความสุขกับอะไร กล้าที่จะปกป้องสิ่งที่หัวใจตัวเองต้องการ และกล้าที่จะต่อรอง ในอนาคต พวกเขามีโอกาสที่จะได้เดินในเส้นทางที่ตัวเองชอบมากกว่าคนอื่น และอาจทำได้ดีจนประสบความสำเร็จ

แต่ความดื้อก็คือดาบสองคม ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าความดื้อจะเป็นไปในทางที่ดีเสมอไป สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำก็คือ รับฟังสิ่งที่เด็กต้องการ ให้พวกเขาได้อธิบายมุมมองของตัวเองออกมา และต่อรองแลกเปลี่ยนโดยใช้เหตุผลไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม ที่สำคัญ ต้องไม่ห้ามปรามแบบไร้เหตุผลและคำอธิบาย

เช่น เมื่อเด็กขอนอนดึกขึ้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือการอธิบายว่าการนอนดึกส่งผลอย่างไร และทำไมเด็กควรนอนเร็ว ไม่ใช่การขึ้นเสียงไล่ไปนอนโดยทิ้งให้เด็กจมอยู่กับความสงสัยที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย ซึ่งอาจกลายเป็นความไม่เข้าใจ ความรู้สึกต่อต้าน การมองผู้ใหญ่ว่าไร้เหตุผล และหมดความเชื่อถือในตัวผู้ใหญ่ในที่สุด

พูดง่ายๆ หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่ความไม่เข้าใจ 

เข้าถึงงานวิจัยฉบับเต็มได้ ที่นี่

ที่มา – Entrepreneur, TIME, Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน