คุยกับ ดร.ศรุต วานิชพันธ์ุ บริหารคนรุ่นใหม่อย่างไร ในวันที่ความต้องการไม่เหมือนเดิม

การบริหาร “ทรัพยากรบุคคล” ในปัจจุบัน นับว่ามีความสำคัญกับองค์กรมาก เนื่องจากความคาดหวังของคนทำงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคน หน้าที่สำคัญจึงตกอยู่ที่องค์กร ที่จะต้องหาวิธีในการดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน และรักษาให้คนเหล่านั้น อยู่กับองค์กรต่อไปในระยะยาว

Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) บริษัทที่อยู่เบื้องหลัง Garena Shopee และ Airpay ในประเทศไทย ว่า Sea (Thailand) มีวิธีในการบริหารจัดการทรัพยาการบุคคลอย่างไรในยุคนี้

บริหารจัดการ “คนทำงาน” ตามแบบ Sea (Thailand)

เมื่อถามถึงวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลดร. ศรุต อธิบายว่า “การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของ Sea (Thailand) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน” ได้แก่ การ Recruit คน หรือการหาคนเข้ามาทำงานเป็นส่วนแรก

ด้วยลักษณะของบริการของ Sea (Thailand) ทั้ง Garena, Shopee และ Airpay กลุ่มคนที่ใช้งานเป็นคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงมองหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วพนักงานมีอายุระหว่าง 27-28 ปี

Recruit คนจากทักษะ และ Passion การทำงาน

โดยหลักๆ แล้ว การรับคนเข้ามาทำงาน ดร. ศรุต เล่าว่า จะดูจากทักษะ และความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำก่อนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องมี Soft Skill ด้วยเช่นกัน ทั้ง Passion ในการทำงาน และ Passion ส่วนตัว รวมถึง Growth Mindset ความอยากที่จะพัฒนาตัวเอง รู้จักปรับตัวอย่างรวดเร็ว คิดค้นวิธีใหม่ๆ ในการทำงานได้ โดยใช้ความรวดเร็ว

พัฒนาคน ให้เติบโตคู่กับองค์กร

การรับคนเข้ามาทำงาน เป็นเพียงส่วนแรกของการบริหารจัดการทรัพยาการบุคคลภายในองค์กรเท่านั้น เพราะเมื่อรับคนเข้ามาทำงานแล้ว ก็ต้องมีการพัฒนาทรัพยาการบุคคลที่มีอยู่ ซึ่ง Sea (Thailand) มีโครงการที่จะพัฒนาคนทำงาน ให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร

โดยมีการกำหนดเส้นทางอาชีพ (Career Path) ให้ชัดเจน ให้คนเติบโตไปพร้อมกับองค์กร ดร. ศรุต เปรียบว่าองค์กรเป็นเหมือนเวที ให้พนักงานได้แสดงความสามารถ ลองผิดลองถูก ผ่านเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยให้พนักงานได้มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เมื่อทำสำเร็จก็จะสร้างความเติบโต และสร้างคุณค่าให้กับคนที่ทำงาน

รักษาคนเก่ง อย่างไรให้อยู่ได้

หลังจากที่องค์กรเลือกคนเข้ามาทำงาน และพัฒนาคนเหล่านี้ให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญ ที่สุดคือ การรักษาให้คนเก่งๆ อยู่ในองค์กรต่อไปในระยะยาว ซึ่งวิธีที่ Sea (Thailand) ใช้ คือ การทำให้คนในองค์กรรู้สึกท้าทาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ มีความเชื่อมั่นสูง และกล้าที่จะลงมือทำ

สภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ที่จะดึงดูดให้คนเก่งๆ ทำงานอยู่ในองค์กร ดังนั้นองค์กรต้องทำให้พนักงาน รู้สึกมีความสุข สบายใจ และมีพลังที่จะทำงาน มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างความสะบายใจที่จะทำงาน เข้ามาที่ออฟฟิศแล้วรู้สึกสนุก

นอกจากนี้อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยรักษาคนเก่งๆ ได้ นั่นก็คือ การทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นเจ้าของร่วมกับบริษัทด้วย ต้องรู้สึกว่างานที่ทำมีความหมาย ตอบโจทย์การทำงานของตัวเอง ไม่ได้ทำแค่งานธรรมดา แต่ต้องเป็นงานที่ตอบโจทย์องค์กร และสังคมในภาพรวมด้วย

ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand)

การปรับตัวขององค์กร ต้องทำก่อนถูกดิสรัป

ในมุมมองของ ดร. ศรุต การปรับตัวขององค์กร ต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องของคน และเทคโนโลยี คือการนำเอาคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงาน โดยต้องรีบปรับตัวก่อนที่จะถูกดิสรัปโดยสถานการณ์รอบข้าง

ทำงานที่บ้าน ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดหาอุปกรณ์ แต่ต้องดูแลจิตใจคนทำงานด้วย

สถานการณ์โควิด-19 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวของ Sea (Thailand) โดยเฉพาะการปรับตัวเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ให้สามารถทำงานที่บ้านได้อย่างราบรื่น ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

ดร. ศรุต เล่าว่า Sea (Thailand) มีการจัดทำแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการทำงานที่บ้านคือ พนักงานไม่มีอุปกรณ์ในการทำงาน บริษัทจึงต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ และ Pocket WiFi ให้พนักงานใช้ เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

แต่แน่นอนว่าการทำงานที่บ้าน ไม่ได้มีแค่ปัจจัยเรื่องอุปกรณ์การทำงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ “จิตใจ” ที่ส่งผลต่อการทำงานโดยตรงด้วยเช่นกัน เพราะการทำงานที่บ้านในระยะเวลานานๆ ไม่ได้ออกไปไหน และไม่ได้มีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนรวมงานคนอื่นๆ เหมือนการทำงานในช่วงเวลาปกติ

ดังนั้น ที่ Sea (Thailand) จึงมีการตั้งทีมงานที่คอยคุยกับพนักงานที่ต้องทำงานที่บ้านตลอดเวลา ว่าเจอปัญหาอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมแข่งขันกันภายในกลุ่มพนักงาน เช่น แข่งขันการทำอาหาร และแจกเงินรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ไม่ให้การทำงานที่บ้านกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วย

เทรนด์การบริหารจัดการคนในอนาคต คือการส่งเสริมการเรียนรู้

ในมุมมองของ ดร. ศรุต เทรนด์การบริหารจัดการคนในอนาคต อยู่ที่การเรียนรู้ที่สามารถทำได้ตลอดชีวิต เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วในวันนี้ อาจใช้ไม่ได้ในอนาคต ต้องมี Mindset ที่อยากเรียนรู้ตลอดเวลา ทำงานแล้วต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนอย่างที่ Sea (Thailand) มี Spirit of Start Up เพราะ Sea มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นบริษัท Start Up ที่พนักงานจะรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นเจ้าของร่วมกับบริษัท มีความกล้าที่จะทดลองทำ ทำอะไรใหม่ๆ และผิดพลาดได้ เพื่อให้บริษัทได้เติบโต โดยใช้บทเรียนจากความล้มเหลวนั้น

สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ Sea (Thailand) ใช้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีวิธีการอื่นๆ ที่องค์กรสามารถนำไปใช้ได้

ถ้าอยากรู้ว่าจะมีวิธีในการจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างไร ชวนมาหาคำตอบกันได้ที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce “ทิศทางการทำงานในอนาคต ตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น” ที่กำลังจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ ซึ่งจะมีอีกหลากหลายวิธีการบริหารจัดการองค์กร และทรัพยากรบุคคล จากผู้เชี่ยวชาญด้านงาน HR ขององค์กรชั้นนำหลายแห่ง

สามารถซื้อบัตรผ่าน Event Pop ได้ที่ >> http://go.eventpop.me/Brandinsideforum2020 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: forum@brandinside.asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา