เรื่องเล่าจาก CNBC ได้นำเรื่องของพยาบาลคนหนึ่งที่ทำงานในอาชีพเดิม สถานที่เดิม มายาวนานมากเกือบ 80 ปี อายุการทำงานของเธอยาวนานพอๆ กับชีวิตของเธอ Grace Carr ปัจจุบันอายุ 97 ปีแล้ว
Grace Carr คือพยาบาลโดยอาชีพ เป็นพยาบาลโดยจิตวิญญาณ เป็นคนที่ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไรอีกต่อไป ถ้าชีวิตไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพยาบาล ความรักในอาชีพทำให้เธอฝังตัวเองอยู่ในเส้นทางวิชาชีพที่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
Carr เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเป็นพยาบาลตั้งแต่อายุ 17 ปี
ในโลกปัจจุบัน หาได้น้อยมากที่ชีวิตคนคนหนึ่งจะอยู่ในเส้นทางอาชีพสายเดียวได้ยาวนานขนาดนั้น หลายคนอาจจะลองผิดลองถูก จนกว่าจะเจออาชีพที่ใช่ แต่สำหรับ Carr เธอเป็นพยาบาลฝึกหัดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1944 ที่อัลเลนทาวน์ รัฐเพนซิลเวเนีย (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ St. Luke’s Sacred Heart Campus)
รักในอาชีพนี้ตั้งแต่ต้น ผูกพันยาวนานตั้งแต่ก่อนได้ทำอาชีพนี้ซะอีก
Carr เล่าว่า เท่าที่เธอจำได้ เธออยากเป็นพยาบาลมาโดยตลอด ตอนเด็กๆ ก็เล่นละครกับพี่ชาย สมมติว่าตัวเองเป็นหมอและเอาตุ๊กตามาห่อผ้าพันแผล เหมือนเป็นคนไข้
ชีวิตของ Carr ผูกพันอยู่กับอาชีพพยาบาลมาโดยตลอด ตอนเด็กๆ รับบทเป็นหมอ โตมาก็เป็นพยาบาลในโรงพยาบาล เมื่อออกจากงานในปี 1989 เธอก็ยังใช้เวลาทำงานต่อไปในสำนักงานแพทย์ในเครือโรงพยาบาลอีก 3 ปี และเกษียณอายุในวัย 65 ปี
หลายคนอาจคิดว่า เมื่อถึงเวลาเกษียณก็น่าจะจบชีวิตจากการทำงานได้แล้ว
สำหรับคนอื่นอาจจะใช่ แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่รักในงานที่ตัวเองทำอย่าง Carr
เธอยังรับงานเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลต่อไป ในปี 1993 หลังจากที่สามีเธอเสียชีวิต Carr ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครมากว่า 6,000 ชั่วโมงแล้ว เธอจะเข้าไปร่วมทำงานเพื่อช่วยเหลือคนไข้ในโรงพยาบาลทุกวันพุธ ตั้งแต่เช้ายันบ่ายๆ เย็นๆ คอยให้น้ำคนไข้ ให้กำลังใจคนไข้ด้วยดอกไม้ พาคนไข้ไปตรวจและนำตัวอย่างเข้าห้องแล็บในโรงพยาบาล
Beth Fogel ผู้เชี่ยวชาญด้านอาสาสมัครของโรงพยาบาลที่รู้จัก Carr มาเป็นเวลา 20 ปี พูดถึง Grace Carr ว่า พวกเขาเรียกเธอว่า Amazing Grace หรือ “เกรซ คนมหัศจรรย์” เธอเหมือน Energizer Bunny (มาสคอตของแบรนด์ Energizer เป็นกระต่ายสีชมพูทำท่าแบกกลองและตีกลองไปด้วย) (เปรียบเหมือนมาสคอตกระต่ายติดแบตเตอรี่ที่ตัว คอยให้พลังงานแก่ผู้คนให้มีความสุขอยู่เสมอ)
เมื่อความรักในงานอยู่เหนือเงิน เม็ดเงินจึงไม่ใช่คำตอบในการตัดสินใจทำงาน
บทเรียนจากอาชีพของ Carr เธอบอกว่า เธอไม่สามารถจินตนาการชีวิตที่ไม่ได้เป็นพยาบาลได้เลย ช่วงที่เธอเริ่มเป็นพยาบาลก็คือช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยเรียน เธอก็ทำหน้าที่เป็นพยาบาลนักเรียนนายร้อย ได้รับเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของ U.S. Cadet Nurse Corps โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการขาดแคลนพยาบาลในช่วงเกิดสงคราม
ช่วงปีแรก เธอมีค่าตอบแทนที่ 15 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ปีถัดมา มีค่าตอบแทน 20 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และได้รับค่าตอบแทน 30 เหรียญสหรัฐในช่วงปีสุดท้าย
ปี 1947 Carr จบการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาล Sacred Heart School of Nursing และแต่งงานกับ Edward เพื่อนเก่าสมัยเรียนมัธยมปลายด้วยกัน
เขาเพิ่งกลับจากการรับราชการทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย Carr เล่าว่า เธอถูกจ้างให้ทำงานกะดึก ตั้งแต่ช่วง 23.00 น. ถึง 07.00 น. ที่ Sacred Heart เธอทำเช่นนั้นยาวนานเกือบ 20 ปี พร้อมกับเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชายอีก 4 คน
บทเรียนชีวิตจากการทำงานเป็นพยาบาล ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
Carr เล่าว่า เมื่อมองย้อนกลับไปตอนนี้ เธอก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเธอทำมันไปได้ยังไง งานพยาบาลได้นอนน้อยมาก แต่เธอก็ไม่คิดว่าจะไปทำอย่างอื่นเลย เธอรักที่จะช่วยเหลือผู้คนผ่านการเป็นพยาบาล เธอรู้สึกขอบคุณที่ทำให้เธอได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
ถ้าพูดถึงงานด้านการแพทย์ งานพยาบาล แน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องชีวิตของผู้คนหลั่งไหลเข้ามาผ่านสายตามากมาย มันคือความเป็น ความตาย ที่อาชีพอื่นก็ไม่ได้สัมผัสถึงชีวิตของมนุษย์ได้มากขนาดนี้ เธอเคยประสบภาวะหมดไฟเหมือนกับพยาบาลรายอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกัน ต้องเหนื่อยหนัก ต้องประสบความเครียดอย่างสาหัสตลอดเส้นทางอาชีพนั้น
Carr เล่าว่า เธอต้องเผชิญทั้งความสุข ความเศร้า เป็นสองเส้นทางในชีวิตพร้อมๆ กัน เธอต้องพบเจอบรรยากาศแห่งการสูญเสีย อยากจะช่วยคนไข้ แต่ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้ รู้สึกเศร้าหมองตามไปด้วย เมื่อเห็นคนไข้ทรมานกับอาการป่วยหรืออาการบาดเจ็บของพวกเขา
แต่อีกบรรยากาศหนึ่ง เธอได้พบความสุขระหว่างทางจากการเกิดใหม่ของทารกตัวน้อยๆ ในโรงพยาบาล ได้เห็นการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ได้พบเจอคนที่รักษาอาการเจ็บป่วยจนหาย
Carr มีลูกรวม 5 คน มีหลาน 12 คน ทั้งหมดล้วนเกิดที่ Sacred Heart แถมลูกเขยก็เกิดที่นี่ด้วย 1 คน เธอได้อยู่ดูแลเขาหลายชั่วโมงที่สถานรับเลี้ยงเด็กแรกเกิด จากนั้น เด็กชายตัวน้อยๆ คนนี้ก็เติบโตและกลายมาเป็นลูกเขยของเธอ เขาแต่งงานกับลูกสาวคนโตของเธอเอง เธอรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งนี้ และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิต
หนึ่งในลูกสาวของเธอ จากที่เคยคิดว่าจะทำงานอาชีพครู ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นแม่ตัวเองทุ่มเท อุทิศตนทำงานที่โรงพยาบาลทุกวัน แม้เกษียณแล้วก็ยังไปรับ-ส่งแม่ไปทำงานเป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาล จนในที่สุด ลูกสาวก็มาทำอาชีพพยาบาลเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำงานยาวนานเช่น Carr ลูกสาวทำอยู่ 35 ปีก่อนจะเกษียณไป
คำแนะนำที่ Carr อยากฝากไว้ จากใจคนที่ทำงานอาชีพเดียวมาทั้งชีวิต
Carr บอกว่า เคล็ดลับในการหางานที่รักทำนั้นเรียบง่ายมาก นั่นก็คือ “ทำงานกับคนที่คุณชอบ”
Carr มีมิตรภาพใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงาน แม้แต่กับพยาบาลที่เข้ามาใหม่ก็คุ้นเคยกับ Carr ด้วย เธอบอกว่า มิตรภาพระหว่างเธอกับเพื่อนนั้น เราเปิดบ้านต้อนรับกันและกัน ดื่มกาแฟบ้าง หรือไม่ก็ทานอาหารเย็นรวมกันได้บ้าง Carr ยังสนับสนุนงานวิจัย 85 ปีจาก Harvard ซึ่ง Brand Inside ก็เคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
งานวิจัยที่ว่าก็คือ ความสุขของชีวิตมนุษย์คืออะไร? ก็คือการมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้คน สิ่งนี้ส่งเสริมความสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า งานที่ไม่มีความสุข ก็คืองานที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว คนจะรู้สึกเกี่ยวพันกับงานมากกว่าผู้คน เอาเข้าจริง อาจจะต้องลงลึกในรายละเอียดของงานด้วยว่า ผู้คนที่เราพบเจอนั้นเป็นคนประเภทไหน เพราะถ้างานเติมเต็มความสุขให้เราแล้ว แต่คนทำให้เราเกลียดงาน มีแต่พลังลบมาเติมเต็ม อาจจะต้องชั่งน้ำหนักว่า เราควรให้ความสำคัญกับงานหรือคนมากกว่ากัน
สุดท้าย Carr สรุปอาชีพพยาบาลที่เธอทำมาตลอดทั้งชีวิตว่า การพยาบาลนั้นไม่ได้เรียกว่างาน แต่มันคือเสียงที่เรียกร้องมาจากหัวใจของเธอต่างหาก
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา