กรุงไทยวาง 7 กลยุทธ์การทำธุรกิจในอนาคต สร้างรายได้จากบริการทั้งหมด ไม่ใช่ค่าธรรมเนียม

ภายหลังการใช้งาน Cashless Society การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ (Promptpay) ผ่านมาหลายปี กลายเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของทุกธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องหารายได้อื่นๆ มาแทนรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ในเมื่อโอนเงินถึงกันได้ทันทีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ยอดธุรกรรมพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับรายได้จากค่าธรรมเนียมที่หายไป

ktb krungthai

3 แนวทางเปิด เพื่อสร้างรายได้จากบริการ

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ธนาคารกรุงไทยเลิกคิดเรื่องรายได้จากค่าธรรมเนียมแล้วแม้รายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ จะยังมีอยู่แต่จะเป็นรายได้เสริมเท่านั้น ต้องมุ่งสร้างรายได้จากบริการทางการเงินที่มี เช่น บริการสินเชื่อ บริการด้าน Wealth ต่างๆ โดยสร้างขึ้นจากการเปิดกว้างใน 3 ด้านหลัก คือ

  1. Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรม รวมถึง Open Platform โดยกรุงไทยต้องเป็น 1st mover เช่น เป๋าตัง ซึ่งมีเงินหมุนเวียน 6 แสนล้านบาท ให้บริการคนไทยกว่า 40 ล้านคน
  2. Open Data ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล เช่น การสนับสนุนให้มีธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เป็นต้น
  3. Open Competition ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่สุด จากการแข่งขันที่เปิดกว้างจากผู้เล่นใหม่ เส้นแบ่งการแข่งขันระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่แยกกันไม่ออก 

อีกส่วนที่จะเห็นกรุงไทยเน้นมากขึ้นคือเรื่อง WealthTech โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับบริการให้เข้มข้นมากขึ้น ตั้งแต่ระดับบนจนถึงกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคาร เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ฯลฯ มีดอกเบี้ยระดับ 20% 25% 30% แต่ต้องบริหารหนี้เสียให้ดีด้วย

KTB ธนาคารกรุงไทย
ภาพจาก Shutterstock

7 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อนธุรกิจของกรุงไทย

  1. ปลดล็อคศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ทั้ง B2B B2C G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า ทั้งการเร่งสร้าง Economic Value จากแอปฯ เป๋าตัง และถุงเงิน เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่ง ต่อยอดความร่วมมือที่ได้ลงทุนไปแล้วทั้งระบบ Smart Transit ตั๋วร่วม Smart Hospital และ Digital Business Platform เป็นต้น
  2. ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ Robotic Process Automation และการใช้ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ (Paperless) นำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา ผสมผสานการให้บริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้เต็มศักยภาพ โดยช่องทางสาขาจะถูกปรับเป็นการให้บริการทางธุรกิจ และอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ EEC
  3. เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร ทั้ง Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อดำเนินการ และ Wealth-Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น ต่อยอดสร้างศักยภาพการออม เสริมสร้างความมั่งคั่งให้คนไทย
  4. สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG  สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส  ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SME กับ Digital Economy และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
  5. พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหาปรับแป็นสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าในเวลารวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการบริษัทในเครือ สร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เต็มศักยภาพ บนความร่วมมือแบบ ONE Krungthai
  6. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
  7. ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความกระฉับกระเฉง โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Fast Learn Fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill/Reskill)  สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา